วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2558

บทความสุขภาพ : สูบบุหรี่เสี่ยง “จอตาเสื่อม”

บทความสุขภาพ : สูบบุหรี่เสี่ยง “จอตาเสื่อม”


          สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่านครับ เมื่อพูดถึงบุหรี่หลายคนคงพอจะรู้บ้างละครับว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพแน่นอน เช่น ทำให้ปอดเสียบ้าง ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ การสูบบุหรี่ไม่ได้ดีต่อสุขภาพเลยครับ วันนี้ผมเลยนำบทความ "สูบบุหรี่เสี่ยง "จอตาเสื่อม""

          ก็ทำให้เสี่ยงจอตาเสื่อมถึง 2.75 เท่า เผยหญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าชาย-ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แนะพบแพทย์ตั้งแต่อายุ 40ปี

          พ.ต.นพ.ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจอประสาทตา และจักษุวิทยาภูมิคุ้มกันและการอักเสบ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า “ภาวะจอตาเสื่อม” (Age-related Macular Degeneration) เป็นโรคร้ายทางตาของผู้สูงอายุ พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุ สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร มีความหมายตรงตัวคือ “เสื่อม” ซึ่งจะเป็นไปตามอายุที่มากขึ้น สำหรับผู้ที่อายุเกิน 75 ปี มีโอกาสถึง 25 เปอร์เซ็นต์ แต่โดยทั่วไปจะเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 45-50 ปี”

          “จริงๆ ในผู้ป่วยบางราย อาจไม่สามารถทราบแน่ชัดว่า เริ่มเป็นเมื่ออายุเท่าไหร่ แต่ทราบว่ายิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ จะมีความเสี่ยงสูง อาการเริ่มต้นมันน้อยมาก โดยไม่มีอาการตาแดงหรือว่าเจ็บปวดแต่อย่างใด เบื้องต้นอาจจะเห็นภาพที่เคยตรงๆ บิดเบี้ยวไป อย่างมองขอบโต๊ะขอบเพดาน ทำไมมันเบี้ยวๆ หรือมีจุดบางส่วนมองไม่เห็น บางคนเป็นจอตาเสื่อมข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งเป็นน้อยหรือไม่เป็น ในชีวิตประจำวันที่ผู้ป่วยใช้ตาทั้ง 2ข้าง ทำให้ไม่ทราบว่ามีตาข้างหนึ่งมัวไปเสียแล้วจากจอตาเสื่อม”

          “ภาวะจอตาเสื่อม” แบ่งออกเป็น 3 ระยะ “ช่วงต้น-กลาง-ปลาย” อีกทั้งแบ่งเป็น 2 ชนิด 1.แบบแห้ง สามารถพบได้ 80 เปอร์เซ็นต์ การดำเนินโรคมักจะเป็นไปอย่างช้าๆ ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ จากนั้นเริ่มมีอาการมองภาพไม่ชัด บิดเบี้ยว หรือรุนแรงจนตาบอด 2.แบบเปียก พบได้น้อยกว่าประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ แต่จะมีความรุนแรงมากกว่าแบบแห้ง ส่วนใหญ่จะสูญเสียส่วนกลางของการมองเห็นและมักจะเป็นอย่างกระทันหัน

          คุณหมอธนาพงษ์ บอกด้วยว่า ปัจจัยที่นำไปสู่ภาวะจอตาเสื่อม จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่ เชื้อชาติ โดยเชื้อชาติผิวขาวจะมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้มากกว่าชาวเอเชีย เพศหญิง และพันธุกรรม โดยผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยภาวะนี้ จะมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้เพิ่มขึ้น 2.ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่ การสูบบุหรี่ ซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยภาวะนี้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2.75 เท่า ความดันเลือดสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง และโรคทางหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้มีรายงานว่า “แสงยูวี” อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จอตาเสื่อม เพราะฉะนั้นแนะนำให้ใส่แว่นดำเวลาออกแดด อย่างไรก็ตามอาการจอตาเสื่อมมักจะไม่ใช่การแพ้แสง ตาจะพร่ามัวโดยที่ไม่เจ็บ หรือปวดแสบ หากแต่ออกแดดแล้วต้องหยีตา ต้องสอบว่ามีภาวะอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่

          “การตรวจวินิจฉัยทำเบื้องต้นที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยการตรวจด้วยแผ่นตาราง 'แอมสเลอร์' (Amsler grid) ให้ใส่แว่นสายตาขณะมองห่างจากใบหน้าประมาณ12-14นิ้ว ตรวจตาทีละข้าง ใช้ตาดูจุดกึ่งกลาง ถ้ามองเห็นผิดปกติ เช่น เห็นแผนภาพไม่ชัด เส้นบิดเบี้ยว ให้บันทึกอาการ”

          สำหรับการรักษาอาการจอตาเสื่อมแบบแห้งในระยะท้าย ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการวิจัย ส่วนแบบเปียก มีวิธีรักษาดังต่อไปนี้
               1.ฉีดยาที่มีฤทธิ์ลดการสร้างหลอดเลือดเข้าไปในลูกตา ซึ่งมีอาการข้างเคียงที่ร้ายแรง คือโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) แต่พบได้น้อยมากและจักษุแพทย์จะประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยก่อนให้ยา
               2.ฉายเลเซอร์เย็น (photodynamic therapy) ซึ่งจะฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำที่แขน เมื่อผ่านไป 15 นาที จะฉายแสงเลเซอร์ไปบริเวณหลอดเลือดที่ผิดปกติ เมื่อยาได้รับแสงเลเซอร์ จะออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดที่ผิดปกติหดตัว จึงช่วยชะลอความเสื่อมของการมองเห็น
               3.ฉายแสงเลเซอร์ร้อน (โดยมากเป็นความยาวคลื่นแสงช่วงสีเขียว) เข้าไปทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติ โดยแสงจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนไปทำลายจุดที่ผิดปกติ อาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับการรักษาได้แก่ เลือดออกในตา และการมองเห็นแย่ลง

          คุณหมอธนาพงษ์ อธิบายอีกว่า สิ่งที่คนกลัวมากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากกลัวตาย คือ กลัวตาบอด เพราะดวงตาเป็นสิ่งสำคัญมาก ฉะนั้นคนที่อายุ 40-45ปี แนะนำให้มาตรวจตา ส่วนในเรื่องการใช้สมาร์ทโฟนคงห้ามใช้กันยาก ควรใช้อย่างพอดี อย่าใช้จนเกินความจำเป็น ซึ่งมีหลักฐานว่า “แสงสีฟ้า” อาจจะทำให้จอตาเสื่อมได้ การติดฟิล์มสีเหลืองจึงป้องกันได้ หรือการผ่าตัดต้อกระจก เลนส์ตาที่ใส่เข้าไปบางชนิดก็เป็นสีเหลือง เพราะเชื่อว่าช่วยในเรื่องการป้องกันภาวะจอตาเสื่อม แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานมายืนยันว่าสามารถป้องกันได้จริงๆ

          ดังนั้น...แม้ว่า ผู้หญิง...คนผิวขาว...คนสายตาสั้น...ส่งต่อจากกรรมพันธุ์...หรือผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป จะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงตกอยู่ในภาวะจอตาเสื่อม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้นกับคนที่นอกเหนือจากคนกลุ่มดังกล่าวนี้

          จึงควรหมั่นดูแลสุขภาพของดวงตาสักนิด หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ทานอาหารให้ครบ5หมู่ เพียงเท่านี้ ก็สามารถยืดระยะเวลาให้ “ดวงตา” และรักษาระยะห่าง ไม่ล้ำเข้าไปในเส้นของภาวะ “จอตาเสื่อม” ได้




ขอบคุณที่เข้ามาชมเพจครับ
คำแนะนำหลังการอ่านจบบล็อค : เมื่อท่านอ่านจบบทความให้ท่านมองไปที่บริเวณที่มีสีเขียว จะลดความเมื่อยล้าดวงตาของท่านได้ (ถ้าอ่านแล้วถูกใจช่วยแชร์กันด้วยนะคร๊าบบ)
Facebook : Like Page
บทความดีดีเหล่านี้จาก : สสส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น