วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

บทความสุขภาพ : โรคแมวข่วน

บทความสุขภาพ : โรคแมวข่วน



   สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่านครับ เมื่อพูดถึงสัตว์เลี้ยงที่แสนจะน่ารักคงหนีไม่พ้น ใช่ไหมละครับ และเวลาที่แมวของเราเล่นมันก็มักจะขวนเราบ้างละ วันนี้ผมเลยนำข้อมูลบทความ จาก ผศ.น.สพ.ดร. ชาญณรงค์  รอดคำ จาก ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เกี่ยวกับโรคนี้มาฝากกันครับ ที่เล่นๆ เนี่ยมันเกิดโรคได้ด้วยหรอ

โรคแมวข่วนคืออะไร
     โรคแมวข่วน หรือ Cat Scratch disease เป็นโรคในแมวที่สามารถติดต่อจากแมวสู่มนุษย์ได้ด้วย

มีสาเหตุจากอะไร
     โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บาร์โทเนลล่า เฮนเซลเล่(Bartonella henselae) ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบ อาศัยอยู่ที่ผิวของเม็ดเลือดแดงของแมว มีรูปร่างเป็นแท่งสั้น โค้งงอเล็กน้อย สามารถก่อโรคได้ในมนุษย์ (Zoonoses) เมื่อคนถูกแมวกัดหรือข่วน หรือถูกแมวเลียที่บาดแผลก็ทำให้เกิดโรคได้

อาการที่พบ

     ในแมว  ภายหลังการติดเชื้อ แมวจะมีเชื้อในกระแสโลหิตในระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือนถึงหลายปี อาการของโรคในแมว อาจพบว่ามีไข้ เบื่ออาหาร ม่านตาอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้ผิวหนังอักเสบ และเหงือกอักเสบ แต่ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการป่วยใดๆ แต่จะเป็นตัวแพร่โรคสู่คนได้

     ในคน คือ มีรอยโรคบนผิวหนัง มีไข้ และมีอาการของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenopathy) รวมถึงตับอักเสบ ในรายที่รุนแรงอาจเกิดการติดเชื้อทั่วร่างกายได้

สัตว์ชนิดใดเป็นโรคแมวข่วนได้บ้าง

      แมวทั้งที่เป็นสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ป่าก็สามารถติดเชื้อ Bartonella henselae ได้ตามธรรมชาติ แมวที่มีเชื้อมักไม่แสดงอาการป่วย แต่จะเป็นพาหะนำเชื้อมาสู่คนได้

สัตว์ติดต่อโรคกันได้อย่างไร
      เชื่อกันว่าหมัดแมว (Ctenocephalides felis) เป็นพาหะนำเชื้อจากแมวตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง แต่เชื้อไม่ติดต่อโดยตรงระหว่างแมวกันเองจากการข่วนหรือกัดกัน

การติดต่อจากแมวสู่คน
      คนสามารถติดโรคแมวข่วนนี้ได้ จากการถูกแมวที่มีเชื้อกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล เนื่องจากเมื่อแมวตัวที่มีเชื้อในกระแสเลือด แล้วแมวเกา กัด หรือข่วนตัวเองจนมีเลือดออก เชื้อในกระแสเลือดก็จะติดอยู่ตามซอกเล็บ เขี้ยวและฟันของแมว เมื่อแมวเลีย กัด หรือข่วนเจ้าของจนเกิดแผล เชื้อก็สามารถเข้าสู่บาดแผลได้
      อาการที่พบคือ พบผื่นแดง ตุ่มพอง แผลหลุมที่บริเวณบาดแผล อาจพบต่อมน้ำเหลืองโต โดยทั่วไป โรคนี้สามารถหายเองได้ภายใน 4-8 สัปดาห์ แต่ในคนที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีความเสี่ยงสูงมากต่อการติดเชื้อโรคนี้ แล้วทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด มีไข้ เกิดการติดเชื้อที่ตา ระบบประสาท หรือมีตุ่มนูนที่ผิวหนัง นอกจากนี้ยังพบรายงานการ ติดเชื้อแทรกซ้อนที่หัวใจ และตับอีกด้วย

การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อ
      สามารถทำได้โดยการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ (antibody detection) การตรวจหาตัวเชื้อบาร์โทเนลล่าโดยการเพาะเชื้อ การใช้ปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (Polymerase Chain Reaction, PCR) และเทคนิคทางอณูชีววิทยาอื่นๆ 
      อย่างไรก็ตาม การตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อในแมวนั้น ไม่สามารถบอกได้ว่า ในขณะนั้นแมวกำลังติดเชื้ออยู่หรือไม่ ในขณะที่วิธีการเพาะเชื้อ การใช้ PCR  และเทคนิคทางอณูชีววิทยาอื่นๆ สามารถบอกได้ว่าแมวกำลังติดเชื้อหรือมีเชื้ออยู่ในกระแสเลือด
      การตรวจการติดเชื้อบาร์โทเนลล่าในแมวมีความจำเป็นในหลายกรณี เช่น การตรวจเมื่อต้องการทำการถ่ายเลือด (Blood transfusion)โดยการตรวจในแมวตัวให้เลือด (Blood donor) และตรวจเพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยงในการติดเชื้อสู่คน โดยในโปรแกรมการถ่ายเลือดหากพบว่าตัวให้เลือดสามารถติดเชื้อบาร์โทเนลล่าจะไม่มีการนำมาใช้เป็นตัวให้เลือด เนื่องจากการรักษาให้ผลที่ไม่แน่นอนในการกำจัดเชื้อจากกระแสเลือด

เมื่อไรที่เราควรไปพบแพทย์
      หากโดนแมวข่วน แล้วมีอาการดังต่อไปนี้ให้ไปปรึกษาแพทย์ อาทิ แผลกัดหรือข่วนหายช้า รอบรอยกัดหรือข่วนแดงขึ้นและกว้างขึ้น ต่อมนํ้าเหลืองบริเวณรักแร้หรือขาหนีบบวมและปวดอยู่เป็นเวลานาน ปวดกระดูกหรือปวดข้อ หรือมีอาการอ่อนเพลียอย่างผิดสังเกตและเป็นไข้นานหลายวันครับ

การป้องกันโรคแมวข่วน
      1.ป้องกันไม่ให้แมวมีหมัด เพราะหมัดเป็นตัวนำเชื้อโรคบาร์โทเนลล่ามาสู่แมว
      2.เมื่อแมวข่วนให้ทำการล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ และใช้ยาฆ่าเชื้อทาแผลให้เร็วที่สุด
      3.หลีกเลี่ยงจากภาวะที่ทำให้แมวข่วนเช่น เช่นการเล่นกับแมวอย่างรุนแรง เป็นต้น
      4.หากโดนแมวข่วน แล้วมีอาการดังต่อไปนี้ให้ไปปรึกษาแพทย์ เช่น แผลกัดหรือข่วนหายช้า รอบรอยกัดหรือข่วนแดงขึ้นและกว้างขึ้น ต่อมนํ้าเหลืองบริเวณรักแร้หรือขาหนีบบวมและปวดอยู่นาน ปวดกระดูกหรือปวดข้อ หรือมีอาการอ่อนเพลียอย่างผิดสังเกตและเป็นไข้นานหลายวันครับ

   โรคเหล่านี้ป้องกันได้ไม่ยากเลยใช่ไหมละครับ ดูแลสัตว์เลี้ยงแสนรักแล้วอย่าลืม ดูแลสุขภาพตัวเราเองด้วยครับ หากคุณผู้อ่านปฏิบัติตามแล้วนอกจากจะห่างไกลจากโรคแล้ว ยังเล่นกับแมวน้อยสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราได้อย่างมีความสุขนะครับ



ขอบคุณที่เข้ามาชมเพจครับ
คำแนะนำหลังการอ่านจบบล็อค : เมื่อท่านอ่านจบบทความให้ท่านมองไปที่บริเวณที่มีสีเขียว จะลดความเมื่อยล้าดวงตาของท่านได้ (ถ้าอ่านแล้วถูกใจช่วยแชร์กันด้วยนะคร๊าบบ)
Facebook : Like Page
บทความดีดีเหล่านี้จาก : สสส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น