วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

บทความสุขภาพ : 5 วิธีคิด พิชิตความเครียด

บทความสุขภาพ : 5 วิธีคิด พิชิตความเครียด



          สวัสดีครับคุณผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน วันนี้ผมมี 5 วิธีคิด พิชิตความเครียดกันครับ เป็นที่ทราบกันดีว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม สภาพแวดล้อมและสถานการณ์รอบตัวย่อมมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ความคิดและพฤติกรรมของเราได้ไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง บ่อยครั้งที่สภาวะเครียดหรือกดดันจากภายนอก ทำให้เรามีอารมณ์ที่ขุ่นมัว ไม่สดชื่น ซึมเศร้า ท้อแท้สิ้นหวัง โกรธ เกลียด หงุดหงิดง่าย เสียใจ น้อยใจ พร้อมๆ กับความคิดด้านลบทั้งต่อตัวเอง
          จากงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในทวีปยุโรปพบว่า การสร้างความผ่อนคลายให้กับตัวเองได้ดี ในสถานการณ์เครียดหรือภาวะกดดัน สามารถลดภาวะซึมเศร้าและภาวะผิดปกติในทางจิตเวชอื่นได้ถึง 5 เท่า และชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองซึ่งนำไปสู่การป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซม์เมอร์ (Alzheimer’s Dementia) ได้ถึง 10-12 ปีเลยทีเดียว การสร้างความผ่อนคลายสามารถทำได้มากมายหลายวิธี เช่น กิจกรรมชวนผ่อนคลายที่สนใจ สปา ดูหนังฟังเพลง การออกกำลังกาย โยคะ สมาธิ หรือแม้แต่การนอนพักผ่อน แต่ในวันนี้ผมจะชวนมารู้จักกับเทคนิคใหม่กันครับว่ามี 5 วิธีคิด แล้วมีอะไรบ้างละ ลองไปอ่านกันดีกว่าครับ

          1. อย่าเสียเวลากับเรื่องไม่ดีที่ผ่านไปแล้วและสิ่งต่างๆ ที่เราควบคุมมันไม่ได้
          คงต้องยอมรับความจริงที่ว่าชีวิตเรามีทรัพยากรต่างๆ ให้ใช้อย่างจำกัด โดยเฉพาะเรื่องของ “เวลา” คงไม่เหมาะหากเรานำสิ่งมีค่านี้ไปใช้อยู่กับสิ่งต่างๆ ที่เราไม่สามารถจัดการ แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ เหตุการณ์ต่างๆ หรือสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นในอดีตอาจกลายเป็นปมติดค้างในใจหลายๆ คน และฉุดรั้งไม่ให้ก้าวเดินต่อไปได้อย่างเต็มที่ การหมกมุ่นอยู่กับปมต่างๆ เหล่านั้นนอกจากจะไม่ทำให้เกิดประโยชน์แล้ว (จากเหตุผลที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีก) ยังอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาหรือปมใหม่ๆ ตามมาได้อีกมากมาย การเลือกที่ยอมรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นและเรียนรู้จากสิ่งผิดพลาดที่ผ่านพ้นไปแล้วเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการป้องกันและจัดการปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า
                ผลลัพธ์ของเหตุการณ์ต่างๆ เกิดจากปัจจัยมากกว่า 1 อย่างเสมอ การทำงานได้ผลตามเป้าที่บริษัทตั้งไว้ การครองชีวิตคู่อย่างราบรื่นมีความสุข การสอบเข้ามหาวิทยาลัยติดคณะที่คาดหวังไว้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ศักยภาพของคุณโดยตรง การทำผิดพลาดไม่ได้แปลว่าคุณแย่ การทำสำเร็จไม่ได้หมายความว่าคุณเก่ง คุณดี เสมอไป ทุกเหตุการณ์ล้วนแฝงไปด้วยปัจจัยบางอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมได้เสมอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยภายนอกตัวเราที่อยู่นอกเหนืออำนาจในการจัดการ เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้โดยตัวเราเองเพียงลำพัง การครุ่นคิดอยู่แต่กับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ คาดหวังอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ยิ่งทำให้เราดึงตัวเองไปสู่ภาวะกดดันมากขึ้น อาจจะดีกว่าถ้าเราลองกลับมาทบทวนดูว่าสิ่งต่างๆ ที่เราสามารถควบคุม จัดการหรือเปลี่ยนแปลงได้นั้น มีอะไรบ้างและเราได้พยายามทำส่วนนี้อย่างเต็มที่แล้วหรือยัง

          2. ความยุติธรรมและเท่าเทียม 100% ไม่มีจริงหรอก ยอมรับให้ได้และอย่านำตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร
          บ่อยครั้งที่การไขว่คว้าหาความยุติธรรมในเหตุการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่ากำลังถูกเอาเปรียบ ถูกรังแก ถูกกระทำหรือกำลังได้รับผลต่างๆ ที่เกิดมาจากความไม่แฟร์หรือความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น แน่นอนครับความยุติธรรมหรือความเท่าเทียมเป็นสิ่งถูกต้องที่ควรมีในทุกระบบ ทุกสังคม แต่ความจริงอย่างหนึ่งบนโลกใบนี้ก็คือ คุณไม่สามารถหาความยุติธรรมหรือความเท่าเทียมแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ได้จากทุกบริบท อคติ (bias) เป็นสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเสมอในเวลาที่ใครก็ตามต้องตัดสินใจอะไรบางเรื่อง หลักการและเหตุผลอย่างเดียวไม่สามารถนำมาซึ่งการสรุปหรือผลลัพธ์ของการตัดสินนั้นได้เพียงอย่างเดียวโดยปราศจากความคิดเห็น (opinion) และทุกๆ ความคิดเห็นจะถูกปนเปื้อนด้วยอคติเสมอ
                และทุกครั้งที่เราตกอยู่ในสภาวะที่ถูกตัดสินโดยบุคคลอื่นหรือระบบใดๆ ที่สงสัยว่าไม่ยุติธรรม เช่น การสัมภาษณ์สมัครงาน การประเมินผลการทำงานในช่วงปลายปีเพื่อพิจารณาเงินโบนัส คะแนนสอบสัมภาษณ์กับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย ผลการประกวดตามเวทีต่างๆ อยากให้ยอมรับและเข้าใจในความจริงข้อนี้ อคติที่เกิดขึ้นในทุกการตัดสินมักทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ตรงไปตรงมา การนำผลการตัดสินนั้นย้อนกลับมาวิเคราะห์จุดเด่นและจุดด้อยของตัวเอง เพื่อการพัฒนาและลดข้อจำกัดของเราต่อไปในอนาคตเป็นสิ่งที่ดี แต่หากผลการตัดสินที่น่าผิดหวังนั้นถูกบันทึกเป็นบาดแผลในใจ ทำให้เรารู้สึกพ่ายแพ้หรือต้อยต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ รู้สึกไร้ค่า ท้อแท้ สิ้นหวัง แล้วล่ะก็ ลองกลับไปทบทวนกันอีกครั้งนะครับ ว่าเราจะยอมให้อคติในการตัดสินของบุคคลอื่นมาเป็นตัวกำหนดคุณค่าและความสามารถในตัวเราที่แท้จริงได้หรือไม่

          3. ไม่จำเป็นต้องชนะหรือเก่งทุกเรื่องก็ได้
          เราทุกคนย่อมอยากได้ทุกสิ่งที่ต้องการ ปรารถนาความสำเร็จในทุกๆ ด้านของชีวิต ความคาดหวังต่างๆ เหล่านี้มักจะผูกมัดเราให้ต้องดิ้นรน ไขว่คว้าหาสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา สร้างความกดดันให้กับชีวิต และทำให้เราห่างไกลจากสภาวะผ่อนคลายในระหว่างที่ใช้ชีวิตแต่ละวัน วิธีคิดที่ปล่อยวางความคาดหวังบางอย่างออกไปบ้าง อาจทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น เช่น ในบางสถานการณ์ที่ไม่ใช่เรื่องหรือประเด็นสำคัญเท่าใดนัก หัดเห็นด้วยกับเรื่องที่ไม่เห็นด้วยบ้างก็ได้ หัดยอมเสียเปรียบคนอื่นบ้างก็ได้ หัดยอมแพ้บ้างก็ได้ หัดเป็นคนไม่สำคัญบ้างก็ได้ เช่น การถกกับแฟนเรื่องการเลือกเมนูหรือร้านอาหารเย็นวันนี้ คุณอาจจะยอมเลือกบางเมนูที่ไม่ถูกใจคุณบ้าง เพื่อให้บรรยากาศในการรับประทานอาหารราบรื่น การไปร่วมแสดงความยินดีในงานวันรับปริญญาของเพื่อน ซึ่งคุณอาจไม่จำเป็นต้องทำตัวให้โดดเด่นเท่าใดนัก การหัดทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ (เน้นนะครับว่าเฉพาะในประเด็นที่ไม่สลักสำคัญอะไรมากมาย) ไม่ได้ทำให้เราดูเป็นคนโง่หรือไร้ค่า ตรงกันข้าม มันอาจบ่งบอกว่าเรามีวิธีคิดที่ชาญฉลาดหรือมีไหวพริบในการใช้ชีวิตและเอาตัวรอดมากกว่าบางคนที่ไม่ยอมใคร และสู้หัวชนฝาเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการในทันที

          4. ไม่มีใครมีสิทธิ์ทำให้คุณเป็นทุกข์ได้ ทุกข์ทั้งหมดเกิดจากการรับรู้และวิธีคิดของคุณเท่านั้น
          หลายๆ คนยอมปล่อยให้ปัญหาต่างๆ รอบตัวสร้างความทุกข์ให้กับเรา การใช้ชีวิตที่ยอมให้อิทธิพลหรือปัจจัยต่างๆ ภายนอกตัวเราเป็นตัวควบคุมหรือกำหนดอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมของเรา ถือเป็นการใช้ชีวิตแบบตอบสนอง (reaction) ต่อสิ่งแวดล้อม มีอะไรเกิดขึ้นก็แก้ไขมันไป ถ้ายังไม่เกิดขึ้นก็ยังไม่ต้องทำอะไร รอให้เกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้นมาก็ตั้งรับและแก้ไขปัญหาเป็นครั้งคราวไป การใช้ชีวิตแบบนี้ทำให้มีโอกาสเกิดความเครียดและมีความทุกข์ในชีวิตได้มาก เรียกว่า การใช้ชีวิตแบบตั้งรับหรือ Reactive behaviors
                ในทางตรงกันข้าม การใช้ชีวิตเชิงรุกหรือ Proactive behaviors จะเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ตัวเราเองรับรู้ว่าสถานการณ์ภายนอกไม่ได้มีบทบาทมากนักในการทำให้เราเกิดความเครียดหรือความทุกข์ เชื่อในอิสรภาพในการเลือกที่จะตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบที่เราต้องการและควบคุมได้ มองว่า “ชีวิตของเรา เราเป็นผู้กำหนด” หรือ “ทุกปัญหาต้องมีทางออกเสมอ” ซึ่งทำให้เกิดการผลักดันความเครียดที่เกิดขึ้นไปสู่ความสำเร็จในการแก้ปัญหาและมีความสุขในชีวิตมากขึ้นแทนที่จะรับรู้สถานการณ์เครียดที่เกิดขึ้นว่าเป็นความทุกข์

          “ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ” การรับรู้ปัญหาและวิธีคิดในการจัดการปัญหาแบบเชิงรุก เชื่อในศักยภาพของตัวคุณ และไม่ปล่อยให้สิ่งแวดล้อมกำหนดชีวิตคุณทั้งหมด จะทำให้คุณมีความทุกข์น้อยลงไปได้มาก หากเปรียบปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ เหมือนสภาพอากาศที่เลวร้าย การพยายามเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศภายนอกนั้นอาจเป็นเรื่องยาก แต่เราก็สามารถมีความสุขอยู่ได้ ภายในบ้านที่อบอุ่นและปลอดภัยท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้ายนั้น สิ่งที่เราจัดการได้คือต้องปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้อบอุ่นและปลอดภัย พร้อมรับกับทุกสภาพอากาศที่อาจเกิดขึ้น อย่าปล่อยให้ ความสุข-ความทุกข์ของเราขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกอีกต่อไปเลยครับ

          5. เวลา คือผู้เยียวยาทุกสิ่ง ไม่ว่าเรื่องดีหรือแย่แค่ไหน สุดท้ายมันก็ต้องผ่านไป
          เวลาที่ผ่านไปนำสิ่งใหม่ๆ ผ่านเข้ามาในชีวิตเราอยู่ตลอด ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเราไม่ว่าจะดีหรือร้ายแค่ไหน สุดท้ายมันก็ต้องผ่านไป วิธีคิดแบบนี้จะสร้างกำลังใจให้กับเราได้ในวันที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์อันเลวร้าย ว่าไม่นานก็คงจะผ่านพ้นไปและมีสิ่งดีๆ ใหม่ๆ เข้ามาบ้าง ในขณะเดียวกันวิธีคิดแบบนี้ก็จะคอยเตือนเราอยู่เสมอว่าอย่าได้ประมาทในการใช้ชีวิตในช่วงขาขึ้นที่มีความสุขอยู่รอบตัว และเตรียมใจไว้สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ การเรียนรู้และยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลงตามเวลาที่เปลี่ยนไปน่าจะทำให้เรายึดติดน้อยลงและสามารถผ่อนคลายกับชีวิตที่ยุ่งเหยิง (เป็นบางช่วง) ของเราได้ดียิ่งขึ้นนะครับ.



ขอบคุณที่รับชมเพจครับ
คำแนะนำหลังการอ่านจบบล็อค : เมื่อคุณอ่านจบบทความแล้ว ลองมองไปที่บริเวณที่มีสีเขียว จะช่วยลดการเมื่อยล้าดวงตาของคุณได้นะครับ 
ถ้าขอบบทความที่ผมมานำเสนอก็ฝากกดไลค์ กดแชร์ เพจด้วยนะครับ
Facebook : Like Page
บทความดีดีเหล่านี้จาก : สสส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น