วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บทความสุขภาพ : การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ

บทความสุขภาพ : การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ




          สวัสดีคุณผู้อ่านที่น่ารักทุกท่านครับ วันนี้ผมมีบทความ "การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ" มาฝากครับ ไม่ลีลาครับ มาอ่านกันเลยดีกว่าครับ
          ผศ.นพ.ยุทธนา อุดมพร ประธานคณะทำงานด้านกีฬาและนันทนาการคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เล่าว่า ผู้สูงอายุสามารถออกกำลังกายได้ เพียงแต่ต้องเลือกให้เหมาะกับสภาพร่างกาย ซึ่งการออกกำลังกายที่เหมาะสมในวัยนี้จะมีการออกกำลังกายเฉพาะส่วน เช่น การบริหารข้อไหล่ ซึ่งผู้สูงอายุบางท่านอาจมีปัญหาเรื่องข้อไหล่ติด หรือการบริหารกล้ามเนื้อหลังในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง และการบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าในผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อม
          ถ้าเป็นการออกกำลังกายทั่วไป ที่เป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพหรือนันทนาการ ก็จะเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยชะลอความเสื่อมของกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อแข็งแรง ปอดทำงานดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งเป็นผลดีอย่างมากสำหรับผู้สูงอายุ

          แต่การออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาของผู้สูงอายุ ควรเลือกเล่นเพื่อความสนุกมากกว่าเพื่อแข่งขัน แต่ถ้าจะแข่งขันกันก็ควรเลือกคู่แข่งในในวัยเดียวกันและสมรรถภาพใกล้เคียงกัน รวมถึงกีฬาที่ตัวผู้เล่นสามารถควบคุมจังหวะการเล่นได้เอง สามารถลดความหนักหรือหยุดพักได้ตามต้องการ โดยนึกถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
          สำหรับ การออกกำลังกายที่แนะนำให้ผู้สูงอายุคือการเดินเร็ว ปั่นจักรยานอยู่กับที่ ซึ่งจะช่วยในเรื่องของระบบไหลเวียนโลหิตและเพิ่มการเผาผลาญพลังงานส่วนเกินของร่างกาย แต่ต้องระวังบริเวณที่เป็นเนินหรือขั้นบันได เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
          นอกจากนี้ การเล่นโยคะ รำมวยจีน ไท้เก๊ก ก็เป็นการออกกำลังที่เน้นการเคลื่อนไหวของร่างกายและการทรงตัว ช่วยในเรื่องข้อต่อกล้ามเนื้อแข็งแรง และการหายใจที่ช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับร่างกาย และเป็นการฝึกสมาธิไปพร้อมๆ กัน โดยการออกกำลังกายลักษณะนี้จะเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีปัญหาเรื่องข้อเท้า
          ส่วนการออกกำลังกายที่เป็นทั้งกีฬาประกอบกับสันทนาการก็คือ การเต้นลีลาศที่ช่วยให้สามารถออกกำลังกายได้ครบทุกส่วน และจังหวะการเต้นยังช่วยในเรื่องของความจำ สมาธิ และการทรงตัว สำคัญที่สุดเพลงที่ใช้เต้นก็เป็นเหมือนดนตรีบำบัด ช่วยฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและจิตใจในเวลาเดียวกัน อีกทั้งการเต้นลีลาศยังช่วยให้ห่างไกลจากภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคที่มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ
          หากแต่ในระหว่างการเล่น จะต้องคอยระวังและสังเกตตัวเองว่าควรหยุดเมื่อไร เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย คือถ้ารู้สึกเวียนศีรษะ ตามัว หูอื้อ ใจสั่น หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอก ต้องหยุดออกกำลังกายทันที ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด



ขอบคุณที่เข้ามาชมเพจครับ
คำแนะนำหลังการอ่านจบบล็อค : เมื่อท่านอ่านจบบทความแล้ว ให้ท่านมองไปที่บริเวณที่มีสีเขียว จะลดความเมื่อยล้าดวงตาของท่านได้ (ถ้าอ่านแล้วถูกใจช่วยแชร์กันด้วยนะคร๊าบบ)
Facebook : Like Page
บทความดีดีเหล่านี้จาก : สสส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น