วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บทความสุขภาพ : หยุดนิ่ง...เพื่อเพิ่มสติ

บทความสุขภาพ : หยุดนิ่ง...เพื่อเพิ่มสติ



       สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมจะมานำเสนอบทความ หยุดนิ่ง...เพื่อเพิ่มสติ ทุกวันนี้คนเรามีแต่เรื่องเครียดๆ เราลองมาอ่านบทความนี้บ้างดีกว่าครับ อาจเป็นแนวทางให้ ไม่เครียดมากเท่าไหร่ ไม่ให้เป็นการเสียเวลาลองอ่านกันดูดีกว่าครับ ชีวิตของคนเราทุกคนต่างก็ปรารถนาและแสวงหาความสุขด้วยกันทั้งสิ้น แต่เชื่อหรือไม่ว่าความสุขที่ว่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ต้องไปเสียเงินทองซื้อหาหรือต้องออกเดินแต่อย่างใด แต่ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนตัวเอง โดยเฉพาะทัศนคติหรือมุมมองการดำเนินชีวิตของบุคคลผู้นั้น

       พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ อธิบายว่า องค์ประกอบของความสุขนั้นไม่ยาก หากรู้หลักการที่เรียกว่า "3 ใจ" อันประกอบไปด้วย
          1. พอใจ คือ การรู้จักพอการมีความสมดุลทั้งในเรื่องสุขภาพ การเรียน การงาน และที่สำคัญคือความสัมพันธ์กับคนรอบตัว
          2. สบายใจ คือ การจัดการอารมณ์ทางลบ เช่น ความโกรธ กลัว และความวิตกกังวล เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับชีวิตอะไรเลย
          3. ความภูมิใจ คือ ความสุขที่มาจากความภาคภูมิใจในตัวเอง มองตัวเองมีคุณค่าและไม่พยายามนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ซึ่งการสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองที่ว่านี้ เราอาจจะเริ่มจากการมองหาข้อดีของตัวเอง หรืออาจเริ่มจากการมีความรู้สึกดี ๆ จากการได้ช่วยเหลือผู้อื่นก็ได้"หยุดนิ่ง...เพื่อเพิ่มสติ"
       พญ.วิมลรัตน์ บอกต่อว่า คนเราเมื่อมีอารมณ์โกรธ ปฏิกิริยาทางร่างกายจะไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นแรงและเร็ว เมื่อเป็นเช่นนั้น เราควร "หยุดนิ่งสักพัก" เพื่อรอให้อารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นลดความรุนแรงลง ซึ่งการหยุดนิ่งเพื่อเพิ่มสตินี้ทำได้โดยหยุดนิ่งชั่วขณะเพื่อให้หัวใจมีจังหวะเต้นช้าลง ผ่อนอารมณ์ให้คลายลง แล้วสูดลมหายใจยาว ๆ สักสองสามครั้ง เพื่อให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายและไหลเวียนได้ดีขึ้น เสมือนเป็นการเติมพลังให้กับสมองส่วนที่ใช้ความคิดอย่างมีเหตุผลและไตร่ตรอง

"เกิดอะไรขึ้นเวลาที่เราโกรธ"
       พญ.วิมลรัตน์ บอกต่อว่า เมื่อมีใครสักคนทำให้เราเจ็บปวดทั้งทางกายหรือทางจิตใจ เราจะเกิดความรู้สึก "ความไม่พอใจ" ถ้าเรารู้ไม่เท่าทันหรือไม่รีบจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้ ต่อไปจะกลายเป็นความโกรธ ซึ่งจะนำไปสู่ความเกลียด ความเคียดแค้น ชิงชัง ทำลายหรืออาฆาตพยาบาท ดังนั้น เราปรับมุมมองลดความโกรธจากความคาดหวังได้โดย
          1. ทบทวนว่ายอมรับได้หรือไม่ หากเป็นไปได้ควรยืดหยุ่นหรือยอมรับได้
          2. ให้ความสำคัญกับการคิดหาทางออกแก้ปัญหา มากกว่าความโกรธที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง
          3. หาสิ่งที่น่าสนใจดีกว่าหมกมุ่นเรื่องผิดหวัง
          4. ตั้งความหวังใหม่ ลดความหวังเดิมและ 5. ทำใจเผื่อสำหรับความผิดหวัง
          "ฟังอย่างไรให้เข้าถึงจิตใจผู้อื่น"

       พญ.วิมลรัตน์ บอกอีกว่า การรับฟังยังช่วยเพิ่มความสัมพันธ์และช่วยเพิ่มมิตรอีกด้วย "การฟังให้เข้าถึงจิตใจอย่างลึกซึ้ง" เป็นทักษะการฟังที่ดี ฟังให้เป็น และฟังให้เข้าใจโดยต้องฟังทั้งเนื้อหา อารมณ์ และความรู้สึก ซึ่งประกอบด้วย
          "ฟังด้วยท่าทีใส่ใจ" กระตือรือร้น สบตา ตอบสนองและรับคำ เพื่อแสดงถึงการรับรู้และการรับฟัง
          "ฟังอย่างเข้าใจ" สังเกตภาษาท่าทางและน้ำเสียงเพื่อจับอารมณ์และความรู้สึก ไม่ตัดสินผู้พูด ตลอดจนไม่ด่วนสรุป
          "ฟังอย่างให้เกียรติผู้พูด" ไม่ขัดจังหวะ ไม่พูดแทรก ไม่ใจลอย และไม่มองเป็นเรื่องขำขันหรือไร้สาระ
          "ฟังอย่างตั้งใจ" จับประเด็นเพื่อกระจ่างชัดถึงเป้าหมายและความต้องการมีการทวนความหรือสรุปความเพื่อให้เข้าใจตรงกัน ตลอดจนตั้งคำถามเพื่อเพิ่มความชัดเจน
          "ฟังลึกซึ้งให้ถึงแก่น" ฟังใจผู้พูดสะท้อนความรู้สึกเพื่อจับอารมณ์ที่ล้ำลึก รับรู้ถึงความเชื่อและทัศนคติ

       หลักปฏิบัติมีไม่มาก เพียงเท่านี้ก็ทำให้คุณผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพ และจิตใจที่แจ่มใสแล้วละครับ ผมก็หวังว่าบทความที่นำมาให้อ่านน่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ


ขอบคุณที่เข้ามาชมเพจครับ
คำแนะนำหลังการอ่านจบบล็อค : เมื่อท่านอ่านจบบทความให้ท่านมองไปที่บริเวณที่มีสีเขียว จะลดความเมื่อยล้าดวงตาของท่านได้ (ถ้าอ่านแล้วถูกใจช่วยแชร์กันด้วยนะคร๊าบบ)
Facebook : Like Page
บทความสุขภาพ : สสส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น