วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2557

บทความสุขภาพ : หลากวิธีแก้อาการสะอึก

บทความสุขภาพ : หลากวิธีแก้อาการสะอึก




           
     สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมก็จะมานำเสนอวิธีแก้อาการสะอึก เชื่อได้เลยว่าหลายๆคนคงเป็นบ่อยผมเองก็เป้นบ่อยและรำคาญมันมาก เพื่อไม่ให้เสียเวลาและทำให้ผู้อ่านรำคาญผมละก็ไปอ่านบทความกันเถอะครับ

     สะอึก (hiccup) เกิดจากกะบังลมทำงานไม่เป็นปกติ กะบังลมกั้นอยู่ระหว่างช่องท้องกับช่องอก ทำงานโดยยืดและหดในจังหวะสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการหายใจ สาเหตุของการสะอึกอาจเกิดจากมีอะไรไปรบกวนประสาทที่ควบคุมการทำงานของกะบังลม ลมในกระเพาะอาหารขยายตัวไปกระตุ้นปลายประสาทที่มาเลี้ยงกะบังลม หรืออวัยวะใกล้กะบังลมเป็นโรคบางอย่าง เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ

     สาเหตุเหล่านี้ทำให้กะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงทันทีทันใด การบีบรัดตัวของกะบังลมทำให้แผ่นเหนือกล่องเสียงที่คอหอยซึ่งปกติคอยกั้นไม่ให้อาหารเข้าไปในหลอดลมปิดลง เมื่อกะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงก็จะดึงอากาศเข้าสู่ปอดผ่านคอหอย อากาศจึงกระทบกับแผ่นปิด แล้วทำให้สายเสียงสั่นสะเทือน จึงเกิดเป็นเสียงสะอึก

     อาการสะอึกอาจเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ และหายไปได้เอง ใช้เวลาไม่กี่วินาทีไปจนถึง 2-3 นาที ซึ่งพบได้บ่อยๆ แต่หากสะอึกอยู่นานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ หรือสะอึกในขณะนอนหลับ อาจต้องหาสาเหตุว่ามาจากโรคของอวัยวะต่างๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น โรคเกี่ยวกับอวัยวะในช่องท้อง ในช่องปอด ในระบบสมองและประสาทส่วนกลาง เป็นต้น
       
     คนส่วนใหญ่มักจะสะอึกหลังจากการรับประทานอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป หรือรับประทานอาหารที่ทำให้มีก๊าซมาก บางคนอาจเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่มากเกินไป บางคนที่มีความตึงเครียดมากเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุของการสะอึกได้
       

     เทคนิคหยุดอาการสะอึกมีหลายวิธี การศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา พบว่า การกลืนน้ำตาลทรายเปล่าๆ 1 ช้อนโต๊ะ สามารถแก้อาการสะอึกได้ถึง 19 คน จากจำนวน 20 คน

นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ อีกหลายวิธี ได้แก่
     - สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจไว้สักพัก
     - หายใจในถุงกระดาษ
     - กลืนน้ำแข็งบดละเอียด
     - เคี้ยวขนมปังแห้ง
     - บีบมะนาวให้ได้สัก 1 ช้อนชา แล้วจิบแก้สะอึก
     - ก้มตัวดื่มน้ำจากขอบแก้วด้านตรงข้ามหรือด้านที่ไกลจากริมฝีปาก
     - จิบน้ำจากแก้วเร็วๆ หลายๆ อึก ติดๆ กัน
     - ใช้นิ้วมืออุดหูประมาณ 20-30 วินาที
     - อุดหูไปด้วย แล้วดูดน้ำจากหลอดไปด้วย
     - แหงนหน้า กลั้นหายใจ นับ 1-10 จากนั้นหายใจออกทันที แล้วดื่มน้ำหนึ่งแก้ว
     - ใช้นิ้วคีบลิ้นแล้วดึงออกมาเบาๆ หรือแลบลิ้นออกมายาวๆ
     - กดจุด โดยออกแรงบีบเนินใต้นิ้วโป้งของมืออีกข้างหนึ่ง หรือกดบริเวณร่องเหนือริมฝีปาก
     - นวดเพดานปาก
     - ทำให้ตกใจ เช่น ตบหลังแรงๆ โดยไม่ให้รู้ตัวก่อน
     - ถ้าเป็นเด็กอ่อนควรอุ้มพาดบ่าใช้มือลูบหลังเบา ๆ ให้เรอ

     ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการสะอึกไม่หยุดนานกว่า 1 วัน มีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกวิงเวียนร่วมด้วย หรือสะอึกทุกครั้งหลังจากรับประทานยาที่แพทย์จัดให้
       
     ในการค้นหาสาเหตุของการสะอึกเป็นเวลานานๆ แพทย์อาจต้องตรวจระบบทางเดินอาหาร ว่า มีการอักเสบของหลอดอาหารที่เกิดจากการย้อนกลับของน้ำย่อยที่มาจากกระเพาะอาหารหรือไม่ ต้องตรวจความผิดปกติในลำคอ หู จมูก ระบบทางเดินหายใจ และระบบสมองและประสาท
       

     แต่หากสะอึกเป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่นานนัก แต่เป็นหลายครั้ง อาจสังเกตจากกิจวัตรประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่ ว่ามีความสัมพันธ์กับการสะอึกหรือไม่ ถ้าสัมพันธ์กัน ก็ควรจะปรับเปลี่ยนกิจวัตรเหล่านั้น




ขอบคุณที่เข้ามาชมเพจครับ
คำแนะนำหลังการอ่านจบบล็อค : เมื่อท่านอ่านจบบทความให้ท่านมองไปที่บริเวณที่มีสีเขียว จะลดความเมื่อยล้าดวงตาของท่านได้ (ถ้าอ่านแล้วถูกใจช่วยแชร์กันด้วยนะคร๊าบบ) ^,^
Facebook : Like Page
บทความสุขภาพ : สุขภาพชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น