วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

บทความสุขภาพ : "ซึมเศร้า -เครียด-ฆ่าตัวตาย" ภัยเงียบสังคมไทยที่ต้องระวัง

บทความสุขภาพ : "ซึมเศร้า -เครียด-ฆ่าตัวตาย" ภัยเงียบสังคมไทยที่ต้องระวัง




          "ฆ่าตัวตาย" ปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ ถึงขนาดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องกำหนดให้วันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตาย

          ขณะที่เมื่อช่วงต้นปีนี้ เว็บไซต์ชื่อดังแดนภารตะอย่าง Siliconindia.com  ได้ เสนอข่าว 10 อันดับประเทศที่ฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก ดังนี้ 10.ลัตเวีย 9.ญี่ปุ่น 8.ฮังการี 7.คาซัคสถาน 6.กายอานา 5.เบลารุส 4.รัสเซีย 3.ศรีลังกา 2.เกาหลีใต้ และอันดับ 1 คือประเทศลิทัวเนีย

          ขณะที่ประเทศไทย แม้สถิติการฆ่าตัวตายจะไม่สูงในระดับโลกหรือระดับเอเชีย แต่ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต นับจากปี 2550-2553 คนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 5.9 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน แต่ในปี 2554 เพิ่มเป็น 6.03 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และ ในปี 2555 เพิ่มสูงถึง 6.2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ข้อมูลที่น่าสนใจ ภาคเหนือ ยังคงครองแชมป์พื้นที่ฆ่าตัวตายสูงสุด ไม่ว่าจะเป็น น่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และอีกหลายจังหวัด

          ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาชื่อดัง อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า "สภาพอากาศ" มีผลอย่างมากต่อแนวโน้มการแสดงพฤติกรรมของคน โดยประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น ผู้คนมีแนวโน้มที่จะมีอาการเก็บกด ซึมเศร้า จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายสูงกว่าประเทศที่มีอากาศร้อน (ส่วนประเทศที่มีอากาศร้อน ผู้คนมีแนวโน้มจะแสดงความก้าวร้าวออกมาภายนอก อย่างตรงไปตรงมามากกว่า)

          ดร.วัลลภ ยกตัวอย่างบรรดาประเทศเมืองหนาว ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน ฟินแลนด์ หรือสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่ว่ากันว่า เจริญอันดับต้นๆ ของโลกทั้งเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค หรือเทคโนโลยี แต่ผู้คนมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายสูง เช่นกัน อย่างในสวิตเซอร์แลนด์ ค่าบริการนักจิตวิทยาบำบัด สูงถึง ชั่วโมงละ 200 ฟรังก์ (ราว 6,000 บาท) สะท้อนให้เห็นถึงความเครียดและซึมเศร้าของผู้คน จนต้องแห่เข้ารับคำปรึกษาในประเทศ ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

          เช่นเดียวกัน ประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ก็เป็นที่ทราบดีว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อย่างในญี่ปุ่น ถึงขนาดมีสถานที่ที่เรียกว่า อะโอะกิงะฮะระ (Aokigahara) อันเป็นแนวป่าใกล้กับภูเขาไฟฟูจิ ที่ชาวญี่ปุ่นนิยมไปจบชีวิตของตนเป็นจำนวนมาก

          สำหรับ 2 มหาอำนาจแห่งเอเชีย ปัจจัยที่ทำให้คนปลิดชีพ ตนเองได้ง่ายๆ กูรูด้านจิตวิทยารายนี้ อธิบายว่า สังคมดังกล่าวผู้คนมักใช้ชีวิตอยู่แต่ในอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในสำนักงาน (Office) ตั้งแต่เช้าจรดเย็น จนแทบไม่มีเวลาออกไปยืดเส้นยืดสาย หรือสัมผัสกับแสงแดดภายนอก ความเย็นจึงสะสมในร่างกายต่อเนื่อง ทำให้ระบบเลือดลมผิดปกติ เมื่อร่างกายไม่ดี สุขภาพจิตก็ซึมเศร้า เมื่อรวมกับสภาพสังคมที่มี ความกดดัน มีการแข่งขันสูง ดังนั้นจึงมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย ได้ง่ายเป็นพิเศษ หากมีเรื่องราวมากระทบจิตใจ

          สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ดร.วัลลภ แสดงความเป็นห่วงคน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือบรรดามนุษย์ออฟฟิศทั้งหลาย ที่ชีวิตเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ต้องตื่นแต่เช้ามืดไปทำงาน และกว่าจะเลิกงานก็ช่วงเย็นๆ หรือมืดค่ำไปแล้ว แน่นอนว่าชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในห้องแอร์ ร่างกายสะสมความเย็นตลอดเวลา และหลายรายลืมดูแลสุขภาพของตนเอง ทั้งไม่ได้ออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งไม่ได้รับประทานอาหารเช้า ซึ่งมีผลต่อสมองเป็นอย่างมาก

          ดังนั้นคำแนะนำที่สำคัญ คือ "มื้อเช้าห้ามพลาด หาโอกาสยืดเส้น
ยืดสาย ออกไปสัมผัสแสงแดด"
เพราะอาหารมื้อเช้า ถือเป็นมื้อสำคัญที่สุดของมนุษย์ ยิ่งในเมืองหนาว ยิ่งสำคัญมาก นอกจากทำให้อิ่มท้องแล้ว ยังลดความเย็นในสมอง อันเป็นสาเหตุของอาการซึมเศร้าอีกด้วย โดย ดร.วัลลภ ยกตัวอย่างธรรมเนียมชาวจีน ที่ตอนเช้าๆ ต้องกินข้าวต้มร้อนๆ ก่อนทำงานเสมอ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้ร่างกายเกิดความตื่นตัว ชาวออฟฟิศต้องหาเวลาออกกำลังกายบ้าง อย่างน้อยวันละ 30 นาที-1 ชั่วโมง เพื่อ ให้ร่างกายไม่สะสมความเย็นมากเกินไป

          ดังที่ในยุโรป นิยมจัดมหกรรมกีฬาเมืองหนาว รวมถึงส่งเสริมให้ผู้คนออกมา บริหารร่างกายกลางแจ้งอยู่เสมอ เพื่อสู้กับภาวะอากาศหนาวเย็น อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคซึมเศร้า ตามที่กล่าวไปข้างต้น ข้อสุดท้ายคือ แสงแดด การสัมผัสแดดอ่อนๆ จะช่วยให้ตื่นตัว ไม่เฉื่อยชา ดังจะเห็นได้ว่า ชาวตะวันตกนิยมเดินทางมาอาบแดด ที่ประเทศเขตร้อน รวมทั้งประเทศไทยอยู่เสมอ

          อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือบรรดาหญิงวัยกลางคน (อายุราว 40-55 ปี) เพราะเป็นวัยที่สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาครอบครัวมากที่สุด ด้วยสภาพร่างกายที่เริ่มแก่ลง ความต้องการทางเพศลดลงเนื่องจากเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือน ตรงข้ามกับเพศชายวัยเดียวกัน ที่ยังมีความต้องการทางเพศสม่ำเสมอ ทำให้สามีหรือคู่สมรส อาจออกไปหาผู้หญิงอื่นได้ ซึ่งบางรายอาจจะทำใจไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูก จนมีปัญหาสุขภาพจิตถึงขั้นฆ่าตัวตายได้เช่นกัน

          "ต้องเข้าใจก่อน ชายกับหญิงใช้สมองต่างกัน ผู้หญิงใช้สมองซีกขวา เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้นผู้หญิงจะรักเดียวใจเดียว จะมี Sex ได้ก็ต่อเมื่อใจพร้อมเท่านั้น ส่วนผู้ชายใช้สมองซีกซ้าย เป็นเรื่องของเหตุผล ดังนั้นผู้ชายจึงสามารถมี Sex กับใครก็ได้ โดยไม่ต้องมีความรัก ดังนั้นถ้าผู้หญิงไม่เข้าใจโอกาสฆ่าตัวตายก็จะมีสูง"

          นักจิตวิทยาชื่อดัง ให้ข้อคิด พร้อมทั้งเสริมว่า ผู้หญิงเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน ยิ่งต้องดูแลสุขภาพให้ดี อย่าปล่อยให้ร่างกายทรุดโทรม อันจะนำมาซึ่งอาการซึมเศร้าได้

          อีกด้านหนึ่ง นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย มักจะถูกมองว่าเป็นคนโง่ อ่อนแอไม่เข้มแข็ง เป็นการเรียกร้องความสนใจ และมักจะถูกเยาะเย้ย ซ้ำเติม อยู่เสมอ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ที่สำคัญที่สุด คือครอบครัวและคนใกล้ชิดต้องเอาใจใส่ สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป รับฟังปัญหาอย่างไม่ตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ เป็นต้น

          ซึ่งโดยปกติมักจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า เช่น การเขียนจดหมายลาตาย การตัดพ้อ หรือทำร้ายตัวเอง ซึ่งหากเป็นกรณีหลังสุด จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่ก็มีบางรายที่ก่อนฆ่าตัวตาย ไม่ส่งสัญญาณอะไรเลยก็มี

          เช่นเดียวกัน ผู้ที่เริ่มรู้สึกว่าตนเองมีอาการซึมเศร้า ต้องพยายามเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หัดมองโลกในแง่ดีให้เป็นนิสัย พยายามออกกำลังกาย ให้ร่างกายแข็งแรงและสมองปลอดโปร่ง เพราะการออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นการหลั่งสารแห่งความสุขได้อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ง่าย

          นอกจากนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังฝากประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจ สามารถ Download Application "Smile Hub" อันเป็นโปรแกรมประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ซึ่งเป็นแอพฯ ฟรี สามารถใช้ได้ทั้ง iOS และ Android รวมถึงหากรู้สึกว่าเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิต สามารถโทร. สายด่วนสุขภาพจิต 1323  ได้ตลอด 24 ชั่วโมงปัญหาความเครียด-โรคซึมเศร้า เป็นปัญหาที่มักจะมาพร้อมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมเมืองที่ผู้คนอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน พร้อมๆ กับรูปแบบการทำงานที่เน้นใช้สมองอย่างหนักตลอดวัน ไม่ค่อยได้ขยับร่างกายมากนัก รวมถึงการต้องอยู่ในสถานที่ปิดอย่างอาคารสำนักงาน ซึ่งหลายแห่งอากาศถ่ายเทไม่สะดวก และอุณหภูมิที่หนาวเย็นจากเครื่องปรับอากาศ ส่งผลให้สุขภาพทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว

          ดังในปัจจุบันที่มีการเรียกกลุ่มอาการดังกล่าวว่า Office Syndrome  ประกอบด้วยอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (โดยเฉพาะไหล่ หลัง และคอ) อาการต่อระบบหายใจ (ภูมิแพ้ หายใจไม่สะดวก) ซึ่งสร้างความรำคาญและไม่มั่นใจให้กับผู้ป่วย และเมื่ออาการเหล่านี้อยู่ไปนานๆ เข้า ก็จะทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อถึงเวลานั้น พอมีเหตุการณ์เข้ามากระทบจิตใจ ก็จะเสี่ยงกับการฆ่าตัวตายได้ในที่สุด



ขอบคุณที่เข้ามาชมเพจครับ
คำแนะนำหลังการอ่านจบบล็อค : เมื่อท่านอ่านจบบทความให้ท่านมองไปที่บริเวณที่มีสีเขียว จะลดความเมื่อยล้าดวงตาของท่านได้
Facebook : Like Page

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น