วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บทความสุขภาพ : เปลี่ยนชีวิตสู้ 'มะเร็ง'กันเถอะ

บทความสุขภาพ : เปลี่ยนชีวิตสู้ 'มะเร็ง'กันเถอะ

          จากกรณี สายัณห์ สัญญา อดีตขุนพลเพลงลูกทุ่งขวัญใจตลอดกาล ที่ประสบชะตากรรมโรคมะเร็งตับอ่อน ก่อนหน้านี้คือ ยอดรัก สลักใจ ที่เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับ หรือกรณีของ เสรี รุ่งสว่าง ที่เกือบไป โชคดีเจอก่อนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ตรวจพบระยะแรก กระแสคนดังเฮโลเป็นมะเร็ง กระตุ้นให้คนไทยตื่นตัวและหันมาทำความรู้จักกับมะเร็งมากขึ้น

          โรคร้ายนี้คือสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทยมาตั้งแต่ปี 2541 ไม่เฉพาะแต่ดาราคนดัง หากคนทุกคนล้วนมีสิทธิเป็นมะเร็งเหมือนกันหมด ล่าสุดตัวเลขปี 2552 จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มะเร็งมีจำนวนผู้ป่วยใหม่ 102,791 คน


ในผู้ป่วยใหม่ชาย
อันดับ 1 เป็นมะเร็งตับ 13,281 คน
อันดับ 2 มะเร็งปอด 8,403 คน
อันดับ 3 มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 4,790 คน
อันดับ 4 มะเร็งต่อมลูกหมาก 2,400 คน
อันดับ 5 มะเร็งต่อมน้ำเหลือง 1,994 คน

สำหรับผู้ป่วยใหม่หญิง
อันดับ 1 เป็นมะเร็งเต้านม 10,193 คน
อันดับ 2 มะเร็งปากมดลูก 6,452
อันดับ 3 มะเร็งตับ 6,144 คน

อันดับ 4 มะเร็งปอด 4,322 คน
อันดับ 5 มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 4,144 คน


          อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งสูงสุด คือ มะเร็งตับ 87% อันดับ 2 มะเร็งปอด 80% อันดับ 3 มะเร็งเต้านม 35% อันดับ 4 มะเร็งปากมดลูก 52% ส่วนอันดับ 5 มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 49%

          นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เล่าว่า มะเร็งกำลังเป็นสถานการณ์ที่คุกคามผู้คนทั่วโลก การเกิดขึ้นใหม่และการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราการขยายตัวของประชากร สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตผู้คนที่เปลี่ยนไป

          องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ โดยองค์การอนามัยโลก คาดการณ์สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยว่า ในปี พ.ศ. 2563 จะมีผู้ป่วยใหม่จำนวน 148,729 คน และมีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิต 95,804 คน ในปี พ.ศ. 2573 จะมีผู้ป่วยใหม่จำนวน 176,301 คน และมีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิต 120,689 คน

          เปรียบเทียบสถานการณ์มะเร็งกับประเทศพัฒนาแล้ว กรณีคำนวณเทียบต่อฐานประชากรแสนคนพบว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยมะเร็ง 150 คนต่อประชากรแสนคน และผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิต 95 คนต่อประชากรแสนคน หมายความว่า ในคนไทย 1 แสนคน จะมีผู้ป่วยมะเร็ง 150 คน ในจำนวน 150 คนนี้ จะเสียชีวิต 95 คน ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีผู้ป่วยมะเร็ง 255 คนต่อประชากรแสนคน และเสียชีวิต 111 ต่อประชากรแสนคน


          “แต่แนวโน้มกำลังจะเปลี่ยนไป กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มพบการเกิดใหม่ของมะเร็งสูงขึ้น นั่นหมายความว่า อัตราการตายจากมะเร็งก็จะสูงขึ้นด้วย” นพ.ธีรวุฒิ เล่า

          ทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็ง นพ.ธีรวุฒิ เล่าว่า อัตราเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งก่อนอายุ 75 ปีของคนไทย คือ 15.3% และอัตราตายจากการเป็นมะเร็งก่อนอายุ 75 ปี คือ 10% ส่วนประเทศพัฒนาแล้ว อัตราเสี่ยงเป็นมะเร็งก่อน 75 ปี คือ 26% และอัตราตายจากมะเร็ง 12%

          “มะเร็งคือปัญหาใหญ่ของโลก โดยในปี 2545 ผู้ป่วยใหม่มะเร็งมีจำนวน 12 ล้านคน ตาย 7.6 ล้านคน จากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก 25 ล้านคน มองไปข้างหน้าปี 2030 จากผู้ป่วยใหม่ 12 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 21 ล้านคน ตาย 7.6 ล้านคน จะตายเพิ่มเป็น 13 ล้านคน และในอีก 17 ปีข้างหน้า โลกจะมีผู้ป่วยมะเร็ง 75 ล้านคน” นพ.ธีรวุฒิ เล่า

7 ยุทธศาสตร์สู้มะเร็ง
          กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันมะเร็งฯ ได้จัดทำแผนควบคุมและป้องกันโรคมะเร็งแห่งชาติตั้งแต่ปี 2540 ล่าสุดต้นปี 2556 ประกาศปรับแผนเชิงรุก ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์หลัก

1. ยุทธศาสตร์ด้านสารสนเทศโรคมะเร็ง
          จัดทำสถิติโรคมะเร็งอย่างถูกต้อง โดยดำเนินงานด้าน Population– Based Cancer Registry เพื่อชี้วัดปัญหาโรคมะเร็งในชุมชน

2. ยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
          เน้นให้การศึกษาเรื่องการหลีกเลี่ยงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อมะเร็งจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม

3. ยุทธศาสตร์ด้านการตรวจหาโรคมะเร็งระยะเริ่มแรก
          ป้องกันและควบคุมมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ ดำเนินการด้านตรวจหาโรคมะเร็งให้ได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก ซึ่งรักษาให้หายได้

4. ยุทธศาสตร์ด้านการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
          จัดให้มีนโยบายเกี่ยวกับการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งอย่างแน่ชัดสำหรับมะเร็งที่พบบ่อย และให้เหมาะสมกับวิธีการรักษาที่มีอยู่ แยกกลุ่มผู้ป่วยชนิดที่ควรได้รับการรักษา และชนิดที่ควรรักษาแบบบรรเทาอาการ

5. ยุทธศาสตร์การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
          มะเร็งระยะสุดท้าย การรักษาจะเป็นแบบประคับประคอง ซึ่งจำเป็นต้องมีแผนอย่างเป็นรูปธรรม เน้นจริยธรรมและมนุษยธรรม เพื่อให้ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณภาพและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

6.ยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยเพื่อการป้องกันและควบคุมโรค

          จัดให้มีการวิจัยพื้นฐาน และงานวิจัยระบาดวิทยาเพื่อหากลไกและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เกี่ยวกับการเกิดโรค สนับสนุนการวิจัยเพื่อป้องกัน คัดกรองและวินิจฉัยโรค และการประเมินเทคโนโลยี

7.ยุทธศาสตร์ด้านการเสริมสร้างสมรรถนะองค์กรในการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง
          ผลิตและพัฒนาบุคลากร จัดหาเครื่องมือที่ทันสมัยเหมาะสม มีการศึกษาและฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องแก่แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ



องค์ความรู้เรื่องมะเร็งในปัจจุบัน หนึ่งในสามป้องกันได้ อีกหนึ่งในสามสามารถค้นหาในระยะเริ่มต้นได้ และอีกหนึ่งในสามทำอะไรไม่ได้
คำถามก็คือ เราอยู่ในส่วนไหน ถ้ายังอยู่ในส่วนแรกซึ่งป้องกันได้ คีย์เวิร์ดคือการปฏิบัติตัวให้ห่างไกลมะเร็ง...เลือกที่จะอยู่ในกลุ่มไหนของมะเร็ง ดีกว่าให้มะเร็งเลือกเรา




ขอบคุณที่เข้ามาชมเพจครับ
คำแนะนำหลังการอ่านจบบล็อค : เมื่อท่านอ่านจบบทความให้ท่านมองไปที่ต้นไม้ จะลดความเมื่อยล้าดวงตาของท่านได้
Facebook : Like Page
บทความสุขภาพ : สสส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น