วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

บทความสุขภาพ : 38 วิธีแก้ปวดท้องประจําเดือน

บทความสุขภาพ : 38 วิธีแก้ปวดท้องประจําเดือน


         สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ สาวๆ ทั้งหลายคงต้องเคยพบเจอกับความทุกข์ทรมานเมื่อวันนั้นของเดือนมาถึง บางคนต้องลาป่วยเพราะปวดประจำเดือนจนตัวงอเป็นกุ้ง ลุกจากเตียงแทบไม่ได้ หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ซึ่งอาการปวดประจำเดือนเหล่านี้ผู้หญิงมักเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา แค่รับประทานยาแก้ปวดเดี๋ยวก็หาย แต่ความจริงแล้วอาการปวดประจำเดือนในบางกรณีอาจไม่ใช่เรื่องปกติและอาจนำมาซึ่งโรคร้ายแรงก็เป็นได้ 
         จากการศึกษาพบว่าายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนครั้งแรกของเด็กผู้หญิงไทยจะอยู่ที่ประมาณ 12 ปี 7 เดือน เด็กผู้หญิงทางภาคเหนือจะมีอายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนเร็วกว่าภาคอื่น ๆ ส่วนเด็กทางภาคใต้จะมีอายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนช้ากว่าภาคอื่น ๆ โดยช่วง 1-2 ปีแรกที่เริ่มมีประจำเดือน จะมาแบบไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากการทำงานของรังไข่ยังไม่ค่อยสมบูรณ์ จึงทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ

สาเหตุการปวดท้องประจําเดือน สาเหตุแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆ ได้แก่
         1. ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (Primary dysmenorrhea) เป็นการปวดประจำเดือนที่แพทย์ตรวจไม่พบพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานหรือท้องน้อยที่ชัดเจน โดยจะไม่มีความผิดปกติของมดลูกและรังไข่แต่อย่างใด ในปัจจุบันเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างการมีประจำเดือน และมาจากการมีสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) หลั่งออกมาจากเยื่อบุโพรงมดลูกมากผิดปกติ และสารชนิดนี้จะดูดซึมผ่านกระแสเลือดและมาออกฤทธิ์ที่มดลูก จึงทำให้มดลูกมีการบีบเกร็งตัวและเกิดอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย การปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมินี้มักพบได้ในเด็กสาวหรือผู้หญิงวัยรุ่น ส่วนมากจะเริ่มมีอาการตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก หรือไม่ก็เกิดขึ้นภายในช่วง 2-3 ปีหลังจากการมีประจำเดือนครั้งแรก โดยจะมีอาการมากที่สุดในช่วงอายุ 15-25 ปี หลังจากวัยนี้ไปอาการจะค่อย ๆ ลดลง บางรายอาจหายปวดหลังแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการมีลูกแล้ว มีเพียงส่วนน้อยที่ยังอาจมีอาการตลอดไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน

         2ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea) เป็นการปวดประจำเดือนที่แพทย์ตรวจพบพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานร่วมด้วย ลักษณะการปวดจะมีอาการปวดก่อนมีเลือดประจำเดือนมาและยังปวดต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าประจำเดือนจะหยุดหรือหลังประจำเดือนหยุด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดครั้งแรกเมื่อมีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป โดยก่อนหน้านี้จะไม่เคยมีอาการปวดประจำเดือนเลย การปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมินี้ มักเกิดจากความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ เช่น
  • การมีเนื้องอกมดลูก โดยเฉพาะในโพรงมดลูก มดลูกจึงมีการบีบตัวเพื่อขจัดสิ่งขัดขวางการหดรัดตัวในโพรงมดลูกออก จึงทำให้มีอาการปวดประจำเดือนมากขึ้นเรื่อย ๆ
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่ หรือ เยื่อบุโพรงมดลูกต่างที่ (Endometriosis) โดยเยื่อโพรงบุมดลูกจะหลุดออกมาจากท่อรังไข่ย้อนเข้ามาเจริญที่เยื่อบุช่องท้อง รังไข่ บริเวณอุ้งเชิงกราน หรือลำไส้ ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะมีการตอบสนองต่อฮอร์โมนในร่างกายที่หลั่งออกมาจากรังไข่เช่นเดียวกับเยื่อบุโพรงมดลูก ดังนั้นในขณะที่มีประจำเดือนจะทำให้มีเลือดออกในช่องท้องด้วย จึงทำให้เกิดการระคายเคืองที่เยื่อบุช่องท้อง ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องในขณะที่มีประจำเดือน ซึ่งในรายที่มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงเป็นประจำ มักมาจากสาเหตุนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่มีบุตรยาก
  • การมีพังผืดในช่องท้อง (Pelvic adhesion) พังผืดเกิดจากการผ่าตัดครั้งก่อน หรือจากการที่เคยมีการอักเสบในอุ้งเชิงกรานมาก่อน (ที่ไม่ใช่จากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่) จะทำให้เกิดการดึงรั้งของพังผืดกับเยื่อบุช่องท้องหรือเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดอาการปวดขึ้นมา ส่วนมากผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังมากกว่าที่จะปวดตามรอบของประจำเดือน
  • การใส่ห่วงอนามัย หรือ ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device birth control) จะทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือนได้เช่นกัน เนื่องจากร่างกายพยายามบีบตัวเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกไป
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น มดลูกย้อยไปด้านหลังมาก, ปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปวดประจำเดือน
        - การมีประจำเดือนเร็ว มีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อยกว่า 12 ปี

         - การไม่มีบุตร ทำให้รังไข่ต้องทำงานตลอดเวลาและมีรอบประจำเดือนมากกว่าคนที่มีลูก ซึ่งจะได้หยุดพักการมีประจำ               เดือนไปในช่วงตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอดอีกสักระยะหนึ่ง

         - ประจำเดือนมามากและนาน

         - การใส่ห่วงอนามัย

         - การสูบบุหรี่

         - ความอ้วน
         - การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
         - การมีเนื้องอกมดลูก

วิธีแก้ปวดประจำเดือน

        การดูแลตนเองในเบื้องต้นเมื่อมีอาการปวดประจำเดือน โดยไม่ต้องพึ่งยาเพื่อช่วยลดอาการปวดหรือลดความทรมานสามารถทำได้โดยการ
        1. การประคบอุ่นที่ท้องน้อยด้วยกระเป๋าน้ำร้อน เพราะความร้อนจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อที่ตึงอยู่ผ่อนคลายลงและช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้ เมื่อมีอาการปวดจึงแนะนำให้ใช้กระเป๋าน้ำร้อนมาประคบวางไว้บนท้องน้อยทิ้งไว้สักครู่ (ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรใช้กระเป๋าน้ำร้อน 2 ใบ เพื่อใช้สำหรับประคบที่หน้าท้องและประคบที่บริเวณหลังส่วนล่าง และที่สำคัญการใช้กระเป๋าน้ำร้อนหรือแผ่นความร้อนอื่น ๆ ก็ควรใช้อย่างระมัดระวังด้วย เพราะอาจทำให้โดนลวกได้)

        2. การอาบน้ำอุ่น การแช่น้ำอุ่นในอ่างเป็นการรักษาด้วยความร้อนอีกวิธีที่สามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ โดยเชื่อว่าการแช่น้ำอุ่นจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ จึงทำให้อาการเจ็บปวดลดลง คุณอาจใส่ดีเกลือสัก 1-2 ถ้วยลงในอ่าง (เกลือชนิดนี้จะมีแมกนีเซียมสูง ซึ่งการขาดแมกนีเซียมอาจเป็นสาเหตุของการปวดประจำเดือน) แล้วแช่ตัวในอ่างอย่างน้อย 30 นาที หรือใส่เกลือสมุทร 1 ถ้วย และผงฟูอีก 1 ถ้วยลงในอ่าง ซึ่งส่วนผสมดังกล่าวจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายได้ดีขึ้น แล้วให้แช่ตัวในอ่างอย่างน้อย 30 นาทีเช่นกัน (ถ้าไม่มีอ่างอาบน้ำ การอาบน้ำอุ่นจากฝักบัวก็ช่วยผ่อนคลายความเจ็บปวดได้เหมือนกัน)

        3. ยกขาข้างหนึ่งหรือสองข้างให้อยู่สูงกว่าลำตัวด้วยหมอน เพราะท่านี้จะเป็นการบังคับให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัวลงได้ และถ้าจะให้ได้ผลดีควรใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบที่หน้าท้องร่วมกันไปด้วย
        4. การนอนขดตัว เป็นท่าที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อท้อง จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดประจำเดือนลงได้ แต่มีคำแนะนำว่าไม่ควรนอนขดตัวเป็นเวลานาน คุณต้องลุกเดินไปเดินมาบ้าง แค่นิด ๆ หน่อย ๆ และอย่าออกกำลังมากเกินไปในขณะที่มีอาการปวด นอกจากนี้การกำหนดลมหายใจเข้าออกยังสามารถช่วยลดความเจ็บปวดลงได้เช่นกัน (หายใจเข้าช้า ๆ ทางจมูก และค่อย ๆ หายใจออกทางปาก)
        5. นอนตะแคงไปทางด้านซ้าย เพราะจะช่วยลดอาการปวดประจำเดือนและอาการปวดอื่น ๆ บริเวณหน้าท้องได้ดีกว่าการนอนตะแคงขวา

        6. การนวดหน้าท้อง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการท้องได้ โดยให้นวดเป็นวงกลมอย่างแผ่วเบาและออกแรงกดเบา ๆ ที่บริเวณท้องสัก 10 วินาทีต่อครั้ง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณท้องผ่อนคลาย จึงเป็นการช่วยผ่อนคลายความเจ็บปวดและความตึงเครียดลงได้

        7. การฝังเข็ม เนื่องจากการฝังเข็มจะมีฤทธิ์ปรับการทำงานของฮอร์โมนเพศภายในร่างกายให้กลับสู่สภาพสมดุล ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งมีมดลูกและรังไข่อยู่ภายในให้ไหลเวียนดีขึ้น ลดการคั่งของเลือด และทำให้กล้ามเนื้อผนังมดลูกและรังไข่คลายตัว จึงช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ โดยแพทย์จะใช้เข็มเล็ก ๆ ปักกระตุ้นตรงจุดรับสัญญาณประสาทบริเวณแขนขาและท้องน้อย เพื่อกระตุ้นประมาณ 30 นาที โดยทั่วไปจะทำการรักษาในช่วงก่อนการมีประจำเดือนประมาณ 2 สัปดาห์ และกระตุ้นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อยับยั้งมิให้เกิดอาการปวดหรือบรรเทาอาการไม่ให้รุนแรง

        8. การเล่นโยคะ เนื่องจากการเล่นโยคะจะช่วยยืดกล้ามเนื้อตามการบริหารในส่วนที่มีอาการปวด เมื่อเกิดความยืดหยุ่นจึงทำให้อาการปวดท้องลดลง โดยท่าโยคะที่แนะนำมี 3 ท่าหลัก ๆ คือ ท่าเด็ก Balasana (Child's Pose) เป็นท่าระดับง่าย, ท่าธนู Dhanurasana (Bow Pose) เป็นท่าระดับปานกลาง, และท่าอูฐ Ustrasana (Camel Pose) ซึ่งเป็นท่าระดับยาก (ส่วนวิธีการเล่นของแต่ละท่า แนะนำว่าเอาชื่อไปค้นใน Youtube ได้เลยครับ เพราะจะละเอียดและเข้าใจได้ง่ายกว่าอธิบายเป็นคำพูด)

        9. การเดินไปมา เป็นวิธีบรรเทาอาการเจ็บปวดที่ง่ายและได้ผลดีสำหรับอาการปวดประจำเดือน เพื่อให้ผลที่ดีที่สุด ให้เดินเร็ว ๆ สัก 30 วินาที อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง เพราะการเดินจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเบต้า-เอนดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารระงับความเจ็บปวดออกมา
        10. หมั่นออกกำลังกายเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น การวิ่งจ๊อกกิ้ง, ขี่จักรยาน, ว่ายน้ำ, เต้นรำ, การเล่นกีฬาที่ต้องวิ่ง (เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล), ซิตอัพ เป็นต้น เนื่องจากความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีอาการปวดประจำเดือนมากขึ้น ซึ่งการออกกำลังกายนี่จะทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา

        11. ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อช่วยให้ตับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหน้าที่อย่างหนึ่งของตับคือช่วยรักษาความสมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจน การดื่มน้ำจึงช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนลงได้
        12. รับประทานผักและผลไม้ให้มาก ๆ ฮอร์โมนส่วนเกินของร่างกาย (ที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล) สามารถขจัดได้ผ่านลำไส้ ซึ่งการรับประทานผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์มาก ๆ จะส่งผลดีต่อระบบขับถ่าย ช่วยทำให้ฮอร์โมนส่วนเกินถูกกำจัดออกไปได้ง่ายขึ้น

        13 รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียม เช่น ผักใบสีเขียวเข้ม (เช่น ผักโขม ผักปวยเล้ง), อาหารจำพวกปลาและหอย, กล้วย, มะเดื่อฝรั่ง, ธัญพืชไม่ผ่านการขัดสี, ถั่วอัลมอนด์, เต้าหู้สด, ถั่วอัลมอนด์, ถั่วต้ม, ถั่วลิสง, มะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ เพราะแมกนีเซียมสามารถช่วยลดสารพรอสตาแกลนดินที่ถูกหลั่งออกมาในช่วงมีประจำเดือนได้ จึงมีผลช่วยลดอาการปวดประจำเดือน นอกจากนี้แมกนีเซียมยังช่วยบรรเทาอาการปวดก่อนมีประจำเดือน (PMS) ได้อีกด้วย
        14 รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม เช่น กล้วย, ถั่วขาว (เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิมา), ผักใบเขียว (เช่น ผักโขม ผักคะน้า), ผลไม้แห้งบางอย่าง (เช่น แอพริคอต ลูกพรุน ลูกเกด), ปลาบางชนิด (เช่น แซลมอน ทูน่า) เป็นต้น เพราะโพแทสเซียมอาจช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจมีสาเหตุมาจากการขาดโพแทสเซียม
        15 ทานกากน้ำตาลหนึ่งช้อนชา กากน้ำตาลเป็นน้ำเชื่อมที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารที่ได้มาจากการตกผลึกน้ำตาล ซึ่งน้ำเชื่อมข้นเกรดนี้จะมีปริมาณแคลเซียม ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม แมกนีเซียม แมงกานีส วิตามินบี 6 และซีลีเนียม ซึ่งสารอาหารเหล่านี้จะช่วยลดอาการปวด โดยการลดขนาดลิ่มเลือด คลายกล้ามเนื้อ และฟื้นฟูระดับสารอาหารของระบบในร่างกาย
        16 ดื่มชาคาโมไมล์ สามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ เนื่องจากคาโมไมล์มีไกลซีนซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่สามารถบรรเทาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งได้ ด้วยความสามารถในการทำให้มดลูกคลายตัว จึงช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากประจำเดือนได้
        17 ดื่มชาร้อน ๆ ผสมน้ำผึ้งเล็กน้อย และนวดบริเวณที่ปวด เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการปวดได้
        18 เครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับคนเล่นกีฬา (เช่น เกเตอเรด) เครื่องดื่มเกลือแร่จะมีอิเลคโตรไลท์ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดทั่วไปได้ แม้จะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเครื่องดื่มประเภทนี้จะช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ แต่ก็ไม่มีผลเสียอะไรถ้าจะลองดื่มดู
        19 หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด มันจัด และอาหารขยะ (Junk Food) เพราะจะทำให้ร่างกายผลิตสารพลอสตาแกลนดินออกมามากเกินไป จึงทำให้มดลูกมีการบีบเกร็งตัวและเกิดอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย
        20 หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคล่า น้ำอัดลม หรือช็อกโกแลต โดยเฉพาะในช่วงก่อนและระหว่างที่ประจำเดือนมา เพราะปริมาณกาเฟอีนที่มากไปสามารถทำให้อาการปวดประจำเดือนแย่ลงได้
        21 อาหารเสริมช่วยได้ ก่อนหาซื้อมารับประทานควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะอาหารเสริมบางชนิดอาจทำปฏิกิริยาต่อกันหรือทำปฏิกิริยากับยาที่ใช้อยู่เดิมและส่งผลเสียต่อร่างกายได้
                แคลเซียมซิเทรต ในขนาดวันละ 500-1,000 มิลลิกรัม จะช่วยรักษาความตึงตัวของกล้ามเนื้อได้
                วิตามินอี ในขนาดวันละ 500 ไอยู อาจช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้
                แมกนีเซียม ในขนาดวันละ 360 มิลลิกรัม โดยให้รับประทาน 3 วัน ก่อนที่ประจำเดือนมา ซึ่งแมกนีเซียมจะช่วยลดสารพรอสตาแกลนดินที่ถูกหลั่งออกมาในช่วงมีประจำเดือนได้
                กรดโอเมก้า 3 การรับประทานทุกวันเป็นอาหารเสริมอาจช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ เพราะมีงานวิจัยที่ระบุว่า ผู้หญิงที่ทานน้ำมันปลาทุกวันจะมีอาการปวดประจำเดือนน้อยกว่ากลุ่มที่ทานยาหลอก
        22 หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงก่อนประจำเดือนจะมา การปวดประจำเดือนอาจป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก่อนที่ประจำเดือนจะมา เช่น ความเครียด การนิ่งเฉื่อยไร้กิจกรรม แอลกอฮอล์ กาเฟอีน บุหรี่ หรือสารกระตุ้นต่าง ๆ
        23 ไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดช่วงเอวแน่น เช่น กางเกงยืดรัดรูป ยีนส์ขาเดฟ ยีนส์เอวสูง แต่ให้เปลี่ยนมาใส่แค่กางเกงขาสั้นขนาดพอดีตัวที่หลวมสักหน่อยหรือกางเกงวอร์มก็พอ
        24 รักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนถูกสร้างมาจากเซลล์ที่ทำหน้าที่เก็บสะสมไขมัน ถ้าร่างกายมีการสะสมไขมันมากเกินไป ฮอร์โมนเอสโตรเจนก็จะถูกสร้างเพิ่มขึ้นไปด้วยจนเกิดความไม่สมดุลและส่งผลให้มีอาการปวดตามมา
        25 การใช้น้ำมันหอมระเหย เพราะกลิ่นหอม ๆ สามารถช่วยทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขได้ชั่วระยะหนึ่ง จึงช่วยบรรเทาอาการหรือลืมความเจ็บปวดลงไปได้บ้าง
        26 สมุนไพรแก้ปวดประจําเดือน ผลการศึกษาหลายแห่งระบุว่า มีสมุนไพรหลายชนิดที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้ เช่น ตังกุย, ดอกคาโมไมล์, อีฟนิ่งพริมโรส, เซนต์จอห์นเวิร์ต (St John's Wort), แบล็กโคโฮส ( Black Cohosh) ฯลฯ แต่การใช้สมุนไพรเหล่านี้ควรศึกษาถึงผลข้างเคียงของแต่ละชนิดให้ดีก่อนซื้อหามารับประทาน

        ถ้าปวดไม่มากให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือแอสไพริน (Aspirin) ครั้งละ 1-2 เม็ด เวลาปวดให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรกของการมีประจำเดือน
        ถ้าปวดมาก แนะนำให้นอนพัก ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบหน้าท้อง และรับประทานยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ครั้งละ 200-400 มิลลิกรัม และซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 1,200 มิลลิกรัม), ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง, นาโพรเซน (Naproxen) ครั้งแรก 500 มิลลิกรัม ต่อไปครั้งละ 250 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 1,250 มิลลิกรัม), กรดเมเฟนามิค (Mefenamic acid) ที่มีชื่อทางการค้า เช่น พอนสแตน (Ponstan) ให้รับประทานครั้งแรก 500 มิลลิกรัม ต่อไปครั้งละ 250 มิลลิกรัม และซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง (ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 7 วัน) เป็นต้น โดยควรรับประทานยาก่อนมีประจำเดือน 48 ชั่วโมง และรับประทานทุกวันจนกว่าเลือดประจำเดือนหยุดไหล หรืออาจให้ยาในกลุ่มแอนติสปาสโมดิก (Antispasmodics) เช่น อะโทรปีน (Atropine), ไฮออสซีน (Hyoscine) รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด เพื่อบรรเทาอาการปวด และซ้ำได้ทุก 6-8 ชั่วโมง

        เป็นอย่างไรบ้างครับ บทความที่นำมาให้อ่านกัน สิ่งสำคัญคือห้ามเครียดครับ ยิ่งเครียดเท่าไหร่ยิ่งทำให้ปวดประจำเดือนมาขึ้น อย่าลืมนำไปลองปฏิบัติกันดูครับ หากลองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นให้รีบพบแพทย์ดีที่สุดครับ



ขอบคุณที่รับชมบล็อคบทความดีดีนะครับ
คำแนะนำหลังการอ่านจบบล็อค : เมื่อคุณอ่านจบบทความเป็นเวลานานๆ ลองมองไปที่บริเวณที่มีสีเขียว หรือบริเวณต้นไม้ต่างๆ จะช่วยลดอาการเมื่อยล้าดวงตาของคุณได้นะครับ 
ถ้าบทความที่นำมามีประโยชน์ก็ฝากกดไลค์ กดแชร์ เพจด้วยนะครับ จุ๊บๆ คุณผู้อ่านทุกท่านครับ
Page Facebook : Like Page
ขอบคุณบทความดีดีเหล่านี้จาก : Medthai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น