วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

บทความสุขภาพ : 8 ขั้นตอน "การปฐมพยาบาลทางจิตใจ" ใครก็ทำได้

บทความสุขภาพ : 8 ขั้นตอน "การปฐมพยาบาลทางจิตใจ" ใครก็ทำได้



     ห้วงเวลาแห่งความเศร้าเสียใจจากการสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พบว่า มีประชาชนมาขอรับคำปรึกษาจากหน่วยบริการปฐมพยาบาลทางใจ บริเวณท้องสนามหลวง ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. 2559 - ปัจจุบัน จำนวน 3,800 คน มีปัญหาทางจิตใจ 900 คน ส่วนใหญ่เกิดจากความเครียด เมื่อเกิดเหตุการณ์สวรรคตทำให้ยิ่งเกิดความรู้สึกทุกข์โศก เครียด และวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น

     การปฐมพยาบาลจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือต้องผ่านการอบรมถึงจะสามารถช่วยเหลือจิตใจได้ เพราะคนทั่วไปเองก็สามารถช่วยปฐมพยาบาลทางใจเบื้องต้นได้ ด้วยการใช้หลัก 3 ส. หรือ 3L ได้แก่
       1.สอดส่องมองหา (Look) คือ มองหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยดูปฏิกิริยาทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับคนนั้น เช่น ระดับเสียง ลักษณะการร้องไห้ และสอบถามด้วยคำถามปลายเปิด เพื่อให้รู้ถึงความรู้สึกและความต้องการช่วยเหลือ

       2.ใส่ใจรับฟัง (Listen) คือ รับฟังอย่างตั้งใจ ไม่โต้แย้ง ไม่แย่งพูด ฟังจนกว่าอีกฝ่ายจะหยุดหรือขอความเห็น ไม่ควรเงียบเป็นเวลานาน ควรตอบรับบ้าง ถามบ้างเพื่อให้เขารู้สึกได้รับความใส่ใจ สะท้อนความรู้สึก และทวนความ

       3.ส่งต่อช่วยเหลือ (Link) คือ ให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นพื้นฐาน เช่น น้ำ อาหาร และยา หากไม่ดีขึ้น เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ โศกเศร้ารุนแรง มีความคิดฆ่าตัวตาย ให้พยายามติดต่อครอบครัวหรือชุมชนให้ช่วยป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตก่อนที่จะส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ซึ่งทั้ง 3 หลักนั้นสามารถนำมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมง่ายๆ ด้วย 8 ขั้นตอน ดังนี้
        1.พูดคุยเพื่อสร้างความสัมพันธ์ ให้เกียรติ โดยไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว
        2.ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบรู้สึกปลอดภัย เชื่อมั่น เกิดความสะดวก ทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น หาสถานที่ปลอดภัย ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย3.ช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบอารมณ์สงบและผ่อนคลายขึ้น เช่น หากร้องไห้ก็ส่งกระดาษทิชชูให้เพื่อเป้นกำลังใจและรู้สึกผ่อนคลาย
       4.ช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบบอกความต้องการเร่งด่วนได้ เช่น ทุกเรื่องเป็นเรื่องสำคัญ แต่เรามาคิดกันก่อนว่า เรื่องไหนสำคัญที่สุดและช่วยกันวางแผน
       5.ให้ข้อมูลและให้ความช่วยเหลือที่ปฏิบัติได้
       6.ช่วยประสานติดต่อสมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้าน เช่น มีใครที่ต้องการให้ติดต่อไหม เดี๋ยวเราจะประสานให้เลยค่ะ
       7.ช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีความเข้มแข็ง เช่น ที่ผ่านมาเวลาที่คุณมีเรื่องไม่สบายใจ คุณมีวิธีจัดการอย่างไร
       8.ช่วยประสานผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากหน่วยบริการอื่นๆ ได้อย่างสะดวก เช่น โรงพยาบาล

สำหรับลักษณะของผู้ปฐมพยาบาลทางใจ ต้องมีคุณลักษณะ 7 ประการ ดังนี้
       1.มีท่าทีสงบ สุภาพ ไม่สับสน ใส่ใจ เต็มใจให้ความช่วยเหลือ
       2.เข้าพบและเข้าถึงได้ง่าย
       3.รักษาความลับตามความเหมาะสม
       4.ใส่ใจกับปฏิกิริยาทางร่างกายและจิตใจของตนเอง ดูแลเอาใจใส่ตนเอง
       5.มีความรู้เรื่องบริบท และวัฒนธรรมตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
       6.ส่งต่ออย่างเหมาะสม เมื่อต้องการความเชี่ยวชาญอื่น หรือเมื่อผู้ได้รับผลกระทบร้องขอ
       7.กำหนดบทบาทในขอบเขตของความเชี่ยวชาญและตามที่ได้รับมอบหมาย

สิ่งที่ควรทำของผู้ให้การช่วยเหลือ 8 เรื่องคือ
       1.ใช้น้ำเสียง ท่าทางแสดงความเป็นมิตร แสดงถึงความอบอุ่น เข้าใจ
       2.ใช้การฟังอย่างตั้งใจ แสดงความเข้าอกเข้าใจ อดทนรับฟัง หากเขายังเล่าเรื่องเดิมซ้ำๆ
       3.ยอมรับปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่รุนแรงของผู้ประสบภาวะวิกฤต
       4.เป็นตัวแทนในการติดต่อ
       5.ให้ความช่วยเหลือตามความเป็นจริงอย่างเหมาะสมหรือตามความต้องการ
       6.ทำความเข้าใจและยอมรับวัฒนธรรม ความเชื่อ ภาษาที่แตกต่าง
       7.ปฏิบัติกับเด็กด้วยความจริงใจเท่าเทียม มีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับผู้ใหญ่
       8.ให้ข้อมูลว่าอารมณ์ต่างๆที่เอ่อท่วมท้นอาจคงอยู่ไประยะเวลาหนึ่ง

สิ่งที่ไม่ควรทำ 8 เรื่องคือ
       1.แสดงความเป็นผู้เชี่ยวชาญ
       2.ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม เช่น เวลารักษาบาดแผลทุกอย่าง มันจะผ่านไปในไม่ช้า อย่าเสียใจ อย่าคิดมากเลย คนอื่นเขาก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง เป็นต้น
       3.แสดงความเห็นอกเห็นใจโดยมีอารมณ์ร่วมไปกับผู้ประสบภาวะวิกฤต เช่น ร้องไห้
       4.สัญญาในสิ่งที่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้
       5.ตีตราว่าผู้ประสบภาวะวิกฤตมีอาการทางจิต
       6.ซักถามหรือให้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
       7.แยกสมาชิกครอบครัวออกจากกัน
       8.การสื่อสารทางลบ



ขอบคุณที่รับชมเพจครับ
คำแนะนำหลังการอ่านจบบล็อค : เมื่อคุณอ่านจบบทความแล้ว ลองมองไปที่บริเวณที่มีสีเขียว จะช่วยลดการเมื่อยล้าดวงตาของคุณได้นะครับ 
ถ้าขอบบทความที่ผมมานำเสนอก็ฝากกดไลค์ กดแชร์ เพจด้วยนะครับ
Facebook : Like Page
บทความดีดีเหล่านี้จาก : สสส.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น