วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

บทความสุขภาพ : โรคหลอดเลือดหัวใจ

บทความสุขภาพ : โรคหลอดเลือดหัวใจ





           สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ ก็ควรดูแลสุขภาพกันด้วยนะครับ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ คุณผู้อ่านรู้จักโรคหลอดเลือดหัวใจไหมครับ คงไม่ต้องสงสัยครับว่าไม่มีใครไม่รู้จัก แล้วมันเกิดจากอะไรละ เราลองไปอ่านกันเลยดีกว่าครับ 
           โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากภาวะที่มีการสะสมของไขมันบนผนังของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หลอดเลือดแคบลง ลดปริมาณของออกซิเจนไปยังหัวใจ  ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ หรือหัวใจวาย  โรคหลอดเลือดหัวใจที่เกิดขึ้นเมื่อไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือดสะสมบนผนังหลอดเลือดแดงและสร้างคราบ(ถุงไขมัน) กระบวนการนี้เรียกว่าภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว  เมื่อหลอดเลือดแคบลงและการไหลเวียนของเลือดลดลงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ สร้างความเสียหายให้กล้ามเนื้อหัวใจและนำไปสู่อาการหลาย ๆ อย่างซึ่งอาจจะร้ายแรงได้

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ
           โรคนี้พัฒนาอย่างช้า ๆ ใช้เวลาหลายปี การหายใจเหนื่อยหอบเมื่อออกกำลังกายเป็นสิ่งเดียวที่เป็นอาการของโรค ทำให้ไม่ทราบว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นจนกระทั่งมีอาการเจ็บหน้าอก (angina) หรือมีอาการหัวใจวาย

เจ็บหน้าอก
           อาการเจ็บหน้าอกเกิดเมื่อเลือดที่จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลงหรือชะงักไป  อาการนี้มักเกิดเมื่อออกแรงมาก ๆ หรือมีอารมณ์โกรธหรือจิตใจเครียด  นอกจากนี้ยังอาจเกิดเมื่อถูกอากาศเย็น ๆ หรือหลังรับประทานอาหารอิ่มจัด อาจมีอาการดังต่อไปนี้  ความรู้สึกไม่สบายหรือจุกแน่นยอดอก  เจ็บร้าวที่คอ ขากรรไกร ลำคอ หลัง หรือแขน  เหนื่อยหอบ หายใจขัด อาการมักเป็นนาน ๒-๓ นาที แล้วหายไปเมื่อได้พัก หรือหยุดกระทำสิ่งที่เป็นสาเหตุชักนำ บางครั้งก็หายไปเองเมื่อออกกำลังกายไปเรื่อย ๆ

หัวใจวาย
           การเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดหัวใจทำให้ปิดกั้นหลอดเลือดแดงอย่างสมบูรณ์  เลือดและออกซิเจนไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจทำให้หัวใจวาย อาการหัวใจวายเกิดได้โดยไม่ต้องมีอาการเจ็บหน้าอกหรืออาการอื่น ๆ มาก่อน และอาจรวมถึงอาการเหล่านี้  รู้สึกหนักหรือบีบเค้นในใจกลางของหน้าอก  เจ็บร้าวแพร่กระจายไปยังแขน  คอ ขากรรไกร ใบหน้า หลัง หรือท้อง  รู้สึกวิงเวียน  หายใจขัด เหงื่อแตก ความรู้สึกป่วยหรืออาเจียน  เป็นไปได้ว่าคนไข้อาจไม่มีอาการใด ๆ เรียกว่า กล้ามเนื้อหัวใจตาย และเป็นความเสี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นโรคเบาหวานอยู่
หัวใจล้มเหลว
           โรคหลอดเลือดหัวใจทำให้หัวใจอ่อนแอและนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งหมายถึงไม่แข็งแรงพอที่จะสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เหนื่อยได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ข้อเท้าและขาบวมได้
หัวใจเต้นผิดจังหวะ
           หากกล้ามเนื้อหัวใจได้รับความเสียหายหรือตาย อาจจะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ (จังหวะ) ซึ่งอาจค่อย ๆ พัฒนาไปเมื่อโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นมากขึ้น อาจจะรู้สึกใจสั่น หายใจไม่ทั่วท้อง หรืออาจจะไม่สังเกตเห็นมันเลยก็ได้ ภาวะที่ร้ายแรงที่สุดคือ อาจจะทำให้หัวใจหยุดเต้นโดยสิ้นเชิง (หัวใจวาย)

สาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ :
           โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากการสะสมของไขมันบนผนังหลอดเลือดแดง พบมากในผู้สูงอายุ ปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ มีดังนี้
  1. การสูบบุหรี่  
  2. การมีน้ำหนักเกิน
  3. การดำเนินชีวิตอย่างเฉื่อยชา
  4. เป็นโรคเบาหวาน
  5. ความดันโลหิตสูง
  6. คอเลสเตอรอลสูง
  7. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป 
  8. ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ
  9. รับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
  10. ความเครียดและภาวะซึมเศร้า

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ :
           แพทย์จะสอบถามอาการและตรวจร่างกาย สอบถามเกี่ยวกับประวัติความเจ็บป่วย และอาจให้เข้ารับการตรวจเลือดเพื่อดูระดับไขมัน คอเลสเตอรอล น้ำตาล และโปรตีน  วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง  การเอ็กซเรย์ทรวงอก เป็นต้น

ทางเลือกสำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ :
           มีทางเลือกในการรักษาหลายทางขึ้นอยู่กับสถานการณ์ส่วนบุคคล เช่น การดูแลตัวเอง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอาจจะช่วยลดอาการ หรือป้องกันอาการหัวใจวาย แต่มักจะไม่เพียงพอ  แพทย์อาจจะยังแนะนำให้ใช้ยาและรับการรักษาอื่น ๆ
           การใช้ยา ยาใช้ลดอาการ ทำให้อาการไม่เลวร้ายลง หรือป้องกันหัวใจวายในอนาคต  มียาหลากหลายที่ใช้ในการรักษาโดยตัวยาทำงานในรูปแบบที่แตกต่างกัน ยาที่นิยมใช้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่  ยาต้านการแข็งตัวของเลือด  เช่นแอสไพริน ยาลดคอเลสเตอรอล เช่น ยากลุ่ม statin,  Beta-blockers,  ACE inhibitors, Angiotensin II,  Anticoagulants, ไนเตรท, Antiarrhythmic,  Nicorandil, Ranolazine เป็นต้น 
           หากใช้ยาแล้วยังไม่เพียงพอ แพทย์อาจแนะนำให้พบผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ  เพื่อหารือเกี่ยวกับการรักษาวิธีอื่น ๆ เช่น  การใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจ และการผ่าตัดทําทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

วิธีการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ มีดังนี้
  1. งดสูบบุหรี่
  2. ลดน้ำหนักส่วนเกิน
  3. ออกกำลังกายเป็นประจำ
  4. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
  5. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ
เพียงเท่านี้พวกเราก็จะห่างจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้แล้วละครับ ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านสุขภาพแข็งแรงตลอดปีนะครับ ใกล้เทศกาลต่างๆ แล้วขอให้เดินทางกันโดยสวัสดิภาพครับ ด้วยความรักและเป็นห่วงใจจากผมบล็อคและเพจ "บทความดีดีครับ"

ขอบคุณที่รับชมบล็อคบทความดีดีนะครับ
คำแนะนำหลังการอ่านจบบล็อค : เมื่อคุณอ่านจบบทความเป็นเวลานานๆ ลองมองไปที่บริเวณที่มีสีเขียว หรือบริเวณต้นไม้ต่างๆ จะช่วยลดอาการเมื่อยล้าดวงตาของคุณได้นะครับ 
ถ้าบทความที่นำมามีประโยชน์ก็ฝากกดไลค์ กดแชร์ เพจด้วยนะครับ จุ๊บๆ คุณผู้อ่านทุกท่านครับ
Page Facebook : Like Page
ขอบคุณบทความดีดีเหล่านี้จาก : aetna

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น