วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

บทความสุขภาพ : 7 โรคที่มาพร้อมกับ “ฤดูหนาว”

บทความสุขภาพ : 7 โรคที่มาพร้อมกับ “ฤดูหนาว”




           สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับ พบกันอีกเหมือนเดิมครับ ช่วงนี้อากาศก็เริ่มหนาวกันแล้วอย่าลืม ห่มผ้านอนดันด้วยนะครับ อะวันนี้ผมก็จะมานำเสนอบทความสุขภาพกันอีกนั่นแหละครับ "7 โรคที่มาพร้อมกับ “ฤดูหนาว”" ใกล้หน้าหนาวเราก็มาอ่านให้ระวังตัวกันด้วยละกันครับ เสียเวลาไปมากละ เราลองมาอ่านบทความกันดูดีกว่าครับ มีอะไรมาแนะนำบ้าง





           เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ร่างกายก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกันเตรียมพร้อมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะอากาศที่เย็นสบายเป็นตัวการชั้นดีในการกระจายของไวรัส จึงต้องระวังโรคที่มากับฤดูหนาว





มาดูกันดีกว่าครับว่ามีโรคอะไรกันบ้าง

     1. โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) : เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน เชื้อต้นเหตุเป็นไวรัสอินฟลูเอ็นซาไวรัส (influenza virus) มีอาการหนาวสะท้าน มีไข้ คัดจมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะรุนแรง การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ควรดื่มน้ำให้มาก รับประทานยาหรือฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หยุดพักผ่อน ใช้หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อ และใช้ยาที่ถูกต้องจากแพทย์

     2. โรคไข้หวัด (Common cold) : เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ มีลักษณะอาการใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม คันคอเป็นอาการเด่น การป้องกันโรคไข้หวัดยังไม่มีวัคซีนป้องกันเนื่องจากมีเชื้อไวรัสหลายชนิด แต่เบื้องต้นควรพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีคุณค่าให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้มาก และรับประทานยาตามอาการ เช่น หากมีอาการเจ็บคอ เลือกรับประทานยาแก้ไอขับเสมหะ

     3. โรคปอดบวม (Pneumonia) : หรือภาวะการอักเสบของปอด สาเหตุมักจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วยและสามารถแพร่กระจายออกมาเวลาไอ จาม นอกจากนี้ยังเกิดจากการดมสารเคมี เช่น แอมโมเนีย ไนโตรเจน ไดออกไซด์ หรือการสำลักน้ำลายเศษอาหารและน้ำย่อย เบื้องต้นจะมีอาการไอ คัดจมูกก่อนและจะเริ่มด้วยไข้สูง มีอาการหนาวสั่น หายใจหอบ มีการเจ็บหน้าอกบริเวณที่อักเสบ การป้องกันโรคปอดบวมทำได้โดยหลีกเหลี่ยงจากคนปอดบวม ดื่มน้ำมากๆ และฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโรคที่ทำให้เกิดปอดบวม

     4. โรคหัด (Measles) : เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่ารูบีโอราไวรัส (rubeola virus) เกิดจากการไอ จามรดกันโดยตรงหรือหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไป มีอาการไข้ มักไอแห้งตลอดเวลา มีน้ำมูกมาก ปากและจมูกแดง เด็กอาจจะมีไข้สูงประมาณ 3-4 วัน จึงเริ่มมีผื่นจากหลังหูลามไปยังหน้าและร่างกาย โรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเพียงครั้งเดียวในช่วงที่เด็กมีอายุ 9-12 เดือน

     5. โรคหัดเยอรมัน (Rubella) : เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลลาไวรัส (Rubella virus) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ติดต่อโดยการ ไอ จาม หรือหายใจรดกัน เช่นเดียวกับไข้หวัดหรือหัด ที่พบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีอาการไข้และออกผื่นคล้ายหัด แต่มีความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนน้อยกว่าหัด มีลักษณะเฉพาะคือผื่นเป็นเม็ดละเอียดสีแดง กระจัดกระจาย ทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น และจะหายไปภายใน 3 วัน ซึ่งโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดตามช่วงอายุที่กระทรวงสาธารณะสุขกำหนด

     6. โรคไข้สุกใส (Chickenpox/Varicella) : เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลาไวรัส (Varicella virus) หรือ Human herpesvirus type 3 ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสถูกของใช้ที่เปื้อนตุ่มน้ำของคนที่เป็นสุกใส หรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำ จะมีผื่นขึ้นทั่วร่างกายเป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มใส บางที่เป็นตุ่มกลัดหนอง และบางที่เริ่มตกสะเก็ด โดยปกติโรคไข้สุกใสสามารถหายได้เอง หลีกเลี่ยงการแกะเกา ดื่มน้ำให้มาก รับประทานอาหารตามปกติและพักผ่อนให้เพียงพอหรือฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใสสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี

     7. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Gastroenteritis) : เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโรตาไวรัส (Rota virus) มักพบในเด็กทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรง และมักมีอาการไข้ และอาเจียน การป้องกันเบื้องต้นทำได้โดยรับประทานอาหารที่สุก ล้างมือให้สะอาด จะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายได้

     เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของคุณผู้อ่านเองควรรับประทานอาหารที่สะอาด ถูกหลักอนามัย ออกกำลังกายทุกวัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ต้านโรคเบื้องต้นได้บ้างก็ยังดีกว่า ไม่มีภูมิคุ้มกันนะครับ ถ้าเราไม่ดูแลร่างกายเราแล้วใครละจะไปดูแลเราได้นอกจากตัวเราเองนะครับ



ขอบคุณที่เข้ามาชมเพจครับ
คำแนะนำหลังการอ่านจบบล็อค : เมื่อท่านอ่านจบบทความให้ท่านมองไปที่บริเวณที่มีสีเขียว จะลดความเมื่อยล้าดวงตาของท่านได้ (ถ้าอ่านแล้วถูกใจช่วยแชร์กันด้วยนะคร๊าบบ) ^,^

Facebook : Like Page
บทความสุขภาพ : สสส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น