วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บทความสุขภาพ : หลากอันตรายจากของเล่นเด็ก ที่ควรระวัง

บทความสุขภาพ : หลากอันตรายจากของเล่นเด็ก ที่ควรระวัง


          "ของเล่น" เป็นสิ่งของประเภทหนึ่งที่มีทั้งหลากหลายรูปทรง ทั้งหลากหลายรูปแบบในการหยิบจับสัมผัส ซึ่งเด็กมักจะมีวิธีการเล่นในแบบของตัวเองแตกต่างกันออกไป แต่ในการเล่นของเล่นจริงๆ แล้ว เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะกระตุ้นพัฒนาการของเด็กทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์

          กระบวนการเล่นเป็นกระบวนการที่กระตุ้นระบบประสาทสัมผัสทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การมอง การได้ยิน พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก และการประสานงานของกล้ามเนื้อ การเล่น ที่มีวัตถุประสงค์ในการ กระตุ้นระบบประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ เหล่านี้เรียกว่า การเล่นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นระบบการได้ยินและการตอบสนองจะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการทางภาษา การสื่อสาร อีกด้วย

          กระบวนการเล่นยังสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้เด็ก ฝึกการแก้ไขปัญหา การใช้เหตุผล การตอบสนองต่อจินตนาการในวัยเด็ก การเล่นที่กระตุ้นการเรียนรู้ ค้นคว้า ท้าทายนี้จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเด็ก เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมรักการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต และยังทำให้เด็กผ่อนคลาย ลดความเครียด สามารถระบายความเครียดที่อยู่ใต้จิตสำนึกที่ไม่สามารถบอกออกมาเป็นคำพูดได้ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ตอบสนองอารมณ์ได้ดี

          แต่ของเล่นที่พบเห็นอยู่ในปัจจุบันก็มีอันตรายแอบแฝงอยู่ในตัวด้วยเช่นกัน โดยในแต่ละปีมีเด็กบาดเจ็บจากของเล่นที่ต้องมารับการตรวจรักษาที่ห้องฉุกเฉินต่าง ๆ รวมกว่า 72,000 ราย ซึ่งครึ่งหนึ่งของตัวเลขนี้เกิดจากเครื่องเล่นต่างๆ ในสนามเด็กเล่น ซึ่งมักไม่มีความปลอดภัย เช่น การติดตั้งที่ยึดรากฐานไม่มั่นคงทำให้ล้มทับเด็ก กระทั่งต้องตกเป็นข่าวพาดหัวอันน่าสะเทือนใจมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

          ส่วนพื้นสนามก็ไม่ดูดซับแรงกระแทก แถมมีก้อนกรวดก้อนหินเกลื่อนไปหมด และเป็นสนิมเขรอะ ส่วนการจัดวางเครื่องเล่นแต่ละชิ้น ก็แทบไม่เหลือช่องว่างที่ห่างเพียงพอ ทำให้เด็กต้องเสี่ยงกับการวิ่งชนกันเองหรือชนโครมเข้ากับเครื่องเล่นทั้งหลาย

          ซึ่งจากการสำรวจของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ในประเทศไทยมีเครื่องเล่นที่ไม่ปลอดภัยกว่า 95% ของเล่นที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่มีชิ้นส่วนเล็กกว่า 3.2 x 6 ซม. เป็นส่วนประกอบ จะมีโอกาสทำให้สำลักอุดตันทางเดินหายใจได้มาก เช่น ตุ๊กตุ่นตุ๊กตาพลาสติกตัวเล็ก ๆ ที่มักมาในรูปของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ขวัญใจเด็ก ๆ เช่น ไอ้มดแดง อุลตร้าแมน เต่านินจา ฯลฯ (ให้ระวัง..ส่วนหัวของตุ๊กตุ่นฮีโร่แมนทั้งหลาย กระทั่งแท่งลิปสติกของตุ๊กตาผู้หญิง) เด็กเล็กเห็นเข้าก็มักเอาเข้าปาก เคี้ยวๆ อมๆ แล้วในที่สุดก็ติดคอ ติดหลอดลมจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้นของเล่นของเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ซึ่งชอบเอาของเข้าปาก ต้องไม่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่มีขนาดเล็กกว่า 3.2 ซม. ถ้าเล็กกว่านี้ต้องยาวกว่า 6 ซม.

          ของเล่นมีสายยาวกว่า 22 ซม. ขดเป็นวงทำให้รัดคอเด็ก เช่น สายโทรศัพท์ กีตาร์ รถลาก หรือของเล่นที่มีช่องรู ก็มักทำให้นิ้วติด มือติด หัวติดได้ เช่น ของเล่นชุดปราสาท คฤหาสน์ ชุดครัว ของเล่นลูกกระสุนที่แรงกว่า.08 จุล เช่น ปืนอัดลม ปืนลูกดอก หากโดนลูกนัยน์ตาก็อาจมีอันตรายถึงขั้นตาบอด จึงห้ามให้ลูกเล่นปืนอัดลม หรือปืนลูกดอกทุกชนิดที่กระสุนไม่อ่อนนิ่ม

          ของเล่นที่แหลม ๆ คม ๆ เช่น รถเด็กเล่นที่ท้ายแหลม ลูกข่าง หุ่นยนต์ที่มีส่วนหัวแหลมๆ จรวดพลาสติกหรือโลหะที่มีทรงแหลมๆ คมๆ ของเล่นที่ติดไฟง่าย แล้วเอามาสวมหัว สวมตัว เช่น ชุดแต่งตัวต่างๆ ไอ้มดแดงบ้าง สไปเดอร์แมนบ้าง ทั้งผ้าทั้งวัสดุที่ใช้บุให้มีรูปทรง ต้องผ่านการทดสอบการต้านการติดไฟมาก่อน

          ของเล่นที่เสียงดัง หลาย ๆ อย่างมันดังเกินกว่าความปลอดภัยของเด็ก (เกินกว่า 110 เดซิเบล เมื่อดังครั้งเดียวไม่เกิน1 วินาที หรือ ไม่เกิน 80 เดซิเบลเมื่อเป็นการดังต่อเนื่อง) เรื่องนี้พึงระวังให้มาก เพราะมันอาจทำลายเซลล์ประสาทการรับเสียงของลูก ๆ ได้ โดยเฉพาะของเล่นใช้ไฟฟ้า รถไฟปู๊น ๆ ปืนกล ปืนเลเซอร์ที่กดแล้วมีเสียงดัง

          ของเล่นเคลื่อนที่เร็ว เช่น รถไถ จักรยานสองล้อสามล้อ ที่ออกแบบมาไม่เหมาะสม หรือแม้แต่รถหัดเดิน รถพยุงตัว ก็ไม่ควรใช้เพราะเสี่ยงต่อการหกล้มพลิกคว่ำ



ขอบคุณที่เข้ามาชมเพจครับ
คำแนะนำหลังการอ่านจบบล็อค : เมื่อท่านอ่านจบบทความให้ท่านมองไปที่ต้นไม้ จะลดความเมื่อยล้าดวงตาของท่านได้
Facebook : Like Page
บทความสุขภาพ : สสส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น