วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บทความดีดี : สัญญาณฆ่าตัวตายวัยรุ่นไทย ที่ทุกคนช่วยได้

บทความดีดี : สัญญาณฆ่าตัวตายวัยรุ่นไทย ที่ทุกคนช่วยได้

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต
       กล่าวว่า ในปี 2550 2554 ประเทศไทยมีวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ เฉลี่ย 170 คนต่อปี ปี 2554 พบ วัยรุ่นไทยอายุระหว่าง  15-19 ปี  มีอัตราการฆ่า  ตัวตายสำเร็จ อยู่ที่ 3.43 ต่อประชากรแสนคน วัยรุ่นชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าวัยรุ่นหญิงเป็น 3 เท่า วิธีการฆ่าตัวตาย เป็นวิธีการเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ คือ การผูกคอตาย มากถึงร้อยละ 75.29 รองลงมา คือ การกินยาฆ่าแมลง ร้อยละ 16.47 ทั้งนี้การฆ่าตัวตายจะมีลักษณะกะทันหัน เมื่อต้องประสบภาวะวิกฤตมากกว่ามาจากปัญหาสุขภาพจิตที่มีอยู่แล้ว เช่น ปัญหาการเรียน สัมพันธภาพ นอกจากนี้ สัญญาณเตือนหรือสัญยาณอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ มีการสั่งเสียหรือการเขียนจดหมายลาตาย การตัดพ้อต่อว่า  รู้สึกสิ้นหวัง  มีประวัติทำร้ายตัวเอง  พยายามฆ่าตัวตายมาก่อน หรือมีปัญหาสุขภาพจิตที่มีลักษณะขี้กังวล ซึมเศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่าย ซึ่งหากมีหลายๆ อาการ ถือว่าเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ทางที่ดีที่สุดคือ ให้เข้าถึงบริการสุขภาพจิตอย่างรวดเร็ว

       พญ.พรรณพิมล แนะว่า ปัญหาการฆ่าตัวตาย ทุกคนสามารถช่วยได้ โดยหยุดการส่งต่อภาพซ้ำๆ ในโลกออนไลน์ ที่อาจกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึกของคนที่อยู่ในภาวะไม่พร้อมให้เกิดการตัดสินใจเลียนแบบได้ รวมทั้ง จะได้ไม่สร้างความสะเทือนใจให้กับญาติผู้สูญเสียด้วย ทั้งนี้ หากไม่สบายใจ วิตกกังวลหรือเครียดกับปัญหาชีวิต ควรหาเพื่อนปรึกษาพูดคุยระบาย ช่วยกันคิดแก้ปัญหา ไม่เก็บปัญหาไว้คนเดียว ซึ่งสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ตลอดจน สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากพบว่าตนเองอยู่ในภาวะเครียดรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ หรือขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ เพราะการฆ่าตัวตาย สามารถป้องกันได้ ด้วยความร่วมมือจากทุกคน


บทความจาก : กรมสุขภาพจิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น